AirSeed โดรนยิงเมล็ดพันธุ์ ตั้งเป้าปลูก 100 ล้านต้น ในปี 2024

Logo Thai PBS
AirSeed โดรนยิงเมล็ดพันธุ์ ตั้งเป้าปลูก 100 ล้านต้น ในปี 2024
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สตาร์ตอัปในออสเตรเลีย พัฒนาโดรนบินยิงเมล็ดพันธุ์ ควบคุมพื้นที่การปลูกด้วย AI และสามารถปลูกเมล็ดพันธุ์ได้มากกว่า 40,000 ต้นต่อวัน

ถ้าเราปลูกต้นไม้ได้เร็วมากขึ้น ก็อาจจะช่วยชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนไปได้ส่วนหนึ่ง บริษัทด้านเทคโนโลยีในออสเตรเลีย ได้พัฒนาโดรนบินช่วยยิงเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกต้นไม้ ทำงานได้เร็วขึ้น 25 เท่า โดยจะปลูกต้นไม้ได้มากถึง 40,000 ต้นต่อวัน และคาดว่าจะปลูกได้ถึง 100 ล้านต้นภายในปี 2024

ปัญหาโลกร้อนเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ AirSeed Technologies บริษัทสตาร์ตอัปจากประเทศออสเตรเลีย จึงได้พัฒนาโดรนบิน Octocopter ที่ควบคุมการทำงานด้วยระบบ AI ซึ่งสามารถคำนวณพื้นที่และเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการปลูกในพื้นที่นั้น ๆ ได้ โดยการนำโดรนบินมาช่วย จะช่วยลดต้นทุนในการปลูกต้นไม้ได้มากถึง 80% แต่ปลูกได้เร็วขึ้นถึง 25 เท่าเมื่อเทียบกับวิธีการปลูกต้นไม้แบบเดิม

Octocopter จะบรรทุกเมล็ดพันธุ์ที่ถูกบรรจุอยู่ในฝักซึ่งเคลือบด้วยสารอาหาร และแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของต้นไม้ จากนั้นโดรนบินซึ่งควบคุมด้วยระบบ AI จะบินไปยังจุดเป้าหมาย แล้วยิงเมล็ดพันธุ์ลงไปในพื้นดิน เมื่อตกลงสู่พื้นดิน เมล็ดพันธุ์จะค่อย ๆ เติบโตขึ้น และระบบจะช่วยบันทึกพิกัดเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้แต่ละต้นไว้

ฝักเมล็ดพันธุ์ของ AirSeed ที่พัฒนามาเป็นพิเศษ จะช่วยให้ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้ดี แม้ว่าจะปลูกในดินที่ไม่มีความสมบูรณ์เท่าที่ควร เพราะมีสารอาหารที่ถูกเคลือบอยู่บริเวณพื้นผิวของเมล็ดพันธุ์แต่ละเมล็ด จึงเป็นการช่วยให้ต้นไม้เติบโตได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องกังวัลว่าต้นไม้จะเสียหายมากกว่าจะเติบโต

นอกจากเทคโนโลยีจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานมนุษย์แล้ว ยังเป็นการช่วยเร่งการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง ด้วยการเพิ่มปริมาณต้นไม้ที่ปลูกในแต่ละวันให้มากขึ้น การใช้โดรนบินยิงเมล็ดพันธุ์ช่วยปลูกต้นไม้ ทำให้ได้ต้นไม้ที่เกิดใหม่ 40,000 ต้นต่อวัน และผู้ผลิตได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะปลูกต้นไม้ให้ได้ 100 ล้านต้นภายในปี 2024

ที่มาข้อมูลและภาพ: airseedtech, interestingengineering, euronews, techartica
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง