บทวิเคราะห์ : ฐานการเมืองกทม.สะท้อนจากเลือกตั้งผู้ว่าฯ

การเมือง
20 พ.ค. 65
16:00
305
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ฐานการเมืองกทม.สะท้อนจากเลือกตั้งผู้ว่าฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

22 พฤษภาคม 2565 เป็นวันตัดสินของคนกรุงเทพฯ จะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ และทำหน้าที่ ส.ก.หรือสมาชิกสภากรุงเทพฯ หลังผ่านช่วงเวลาหาเสียงกันอย่างคึกคักคึกครื้น

ในบรรดา “ตัวเก็ง” ที่จะได้รับเลือก ถูกแยกเป็น 2 กลุ่มหลัก โดยอิงจากแนวคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าบางคนจะปฏิเสธ แสดงท่าทีและจุดยืนมาแต่ต้นว่า อิสระไม่ยึดโยงกับกลุ่มใดหรือพรรคการเมืองใด

กลุ่มแรกคือกลุ่มแนวร่วมพันธมิตร กับ กปปส.และโน้มเอียงสนับสนุนขั้วรัฐบาล ประกอบด้วย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.คนหลังสุด ที่ได้เป็นผู้ว่าฯกทม.ด้วยคำสั่ง ตามมาตรา 44 นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯกทม. อดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. และทายาทของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตเลขาธิการ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ และน.ส.รสนา โตสิตระกูร อดีตส.ว.กรุงเทพฯ และอดีตนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้บริโภค

ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มขั้วอำนาจเก่า และแนวร่วมกลุ่ม นปช. ตลอดจนมวลชนคนเสื้อแดง มีจุดยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกอบด้วย ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมช.คมนาคม และอดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิสรณ์ จากพรรคก้าวไกล และ น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตโฆษกรัฐบาล สมัยนายทักษิณ ชินวัตร

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพฯหรือ ส.ก.ที่ไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ ประกอบด้วยพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกจัดอยู่ขั้วรัฐบาล กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกจัดอยู่ขั้วตรงข้ามรัฐบาล

การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเชื่อว่า นอกจากจะแข่งกันดึงคะแนนจากชาวกรุงเทพฯ แล้ว ยังจะมีการดึงคะแนนในขั้วการเมืองเดียวกันด้วย

ทำให้คาดหมายว่า ไม่น่าจะมีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงสนับสนุนเกิน 1 ล้านคะแนน เหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2534 และเลือกตั้งผู้ว่าฯ ปี 2556 ยกเว้นจะมีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งเกินกว่า 70 % ขึ้นไป และไร้เหตุการณ์ฝนตก

อย่างไรก็ตาม เลือกตั้งผู้ว่าฯ และส.ก.หนนี้ ยังถูกจับตาว่า ผลคะแนนที่ออกมา ยังจะช่วยสะท้อนฐานเสียงของแต่ละกลุ่ม แต่ละพรรค ในกรุงเทพฯ ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากเลือกตั้งส.ส.ปี 2562 หรือแม้แต่เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ปี 2556 จะได้ทราบเพียงผลคะแนนระหว่างฝ่ายระหว่างขั้ว 2 กลุ่มใหญ่ คือฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายไม่เอารัฐบาล

แต่ครั้งนี้ ผู้สมัครตัวเก็งส่วนใหญ่ จะเป็นตัวแทนสะท้อนภาพคะแนนนิยมและฐานเสียงทางการเมืองได้ละเอียดมากกว่านั้น เช่น

ฐานเสียงสนับสนุน พล.ต.อ.อัศวิน ที่อาจยังถูกมองว่าเป็นฐานเสียงของ คสช. และกลุ่มคนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

เสียงสนับสนุน ดร.สุชัชวีร์ ที่อาจแสดงออกถึงคะแนนนิยมพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบัน เสียงสนับสนุน น.ต.ศิธา ที่สามารถตีความได้ว่า เป็นเสียงคะแนนนิยมต่อคุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เมื่อออกจากพรรคเพื่อไทย ตั้งพรรคใหม่พรรคไทยสร้างไทย

เสียงสนับสนุน ดร.ชัชชาติ ที่อาจจะสะท้อนกลุ่มคนไม่เอารัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ เสียงสนับสนุนนายวิโรจน์ ที่อาจเป็นคะแนนเสียงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มไม่เอารัฐบาล

ขณะที่ เสียงส.ก.จาก 2 พรรคใหญ่ พรรคพลังประชารัฐและเพื่อไทย เท่ากับสะท้อนภาพคะแนนนิยมของ 2 พรรคการเมืองนี้ในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน

แม้อาจมีปัจจัยอื่นเป็นส่วนประกอบด้วย ที่ทำให้ผลคะแนนผู้สมัครแต่ละคนได้คะแนนเสียงสนับสนุนตามตัวเลขที่ออกมา แต่อย่างน้อยที่สุด จะเป็นประโยชน์สำหรับการประเมินและสรุปฐานมวลชนในกรุงเทพฯ ได้ในระดับหนึ่ง และจะถูกต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ในการเลือกตั้งส.ส.ครั้งหน้า

นี่คือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมือง นอกจากผลแพ้ชนะ หรือใครได้เป็นผู้ว่าฯ และใครสอบได้สอบตก ส.ก.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง