ปรับเกณฑ์วัดค่าฝุ่น PM 2.5 ใหม่ มีผล 1 มิ.ย.66

สิ่งแวดล้อม
24 พ.ค. 65
17:51
1,040
Logo Thai PBS
ปรับเกณฑ์วัดค่าฝุ่น PM 2.5 ใหม่ มีผล 1 มิ.ย.66
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมมลพิษ ปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ใหม่ ลงมาอยู่ที่ 37.5 มคก.ต่อ ลบ.ม. มีผล 1 มิ.ย.66 ยกระดับคุณภาพอากาศเทียบเท่านานาประเทศ

วันนี้ (24 พ.ค.2565) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (บอร์ดสิ่งแวดล้อม) ได้มีมติกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ใหม่ จากเดิมประเทศไทยใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง กำหนดค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก.ต่อ ลบ.ม.) ปรับเปลี่ยนใหม่ลงมาอยู่ที่ 37.5 มคก.ต่อ ลบ.ม. มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย. 2566

ขณะที่ ค่าเฉลี่ยรายปีจากเดิมอยู่ที่ 25 มคก.ต่อ ลบ.ม. ปรับลงมาอยู่ที่ 15 มคก.ต่อ ลบ.ม. มีผลบังคับใช้ทันที นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าประมาณช่วง 2-3 เดือนนี้

 

นายอรรถพล กล่าวว่า การปรับปรุงค่ามาตรฐานดังกล่าว เพราะมีการใช้ค่ามาตรฐานมานานกว่า 10 ปีแล้ว จึงควรปรับปรุงให้มีความเข้มข้นและเหมาะสมมากขึ้น เพื่อเป็นเกณฑ์ทั่วไปสำหรับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแหง่ชาติ พ.ศ. 2535 ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้เทียบเท่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มอาเซียน อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน

สิ่งสำคัญการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ให้เข้มงวดขึ้น อยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" มาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ซึ่งได้ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปแล้ว

 

นายอรรถพล กล่าวว่า ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง ที่กำหนดลดลงเหลือที่มีผลบังคับใช้อีก 1 ปี จากนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองอย่างเข้มข้น เพื่อให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงเหลือเพียง 37.5 มคก.ต่อ ลบ.ม. เท่านั้น โดยคำนึงถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง