สธ.ยืนยันไทยยังไม่พบ "ฝีดาษลิง" เฝ้าระวังคนมาจากประเทศระบาด

สังคม
25 พ.ค. 65
14:29
867
Logo Thai PBS
สธ.ยืนยันไทยยังไม่พบ "ฝีดาษลิง" เฝ้าระวังคนมาจากประเทศระบาด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยืนยันไทยยังไม่พบผู้ป่วย หรือผู้สงสัยโรคฝีดาษลิง แต่เตรียมความพร้อมการตรวจหาเชื้อ ยา เวชภัณฑ์ ทีมสอบสวนโรค เน้นเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่แพร่ระบาด

วันนี้ (25 พ.ค.2565) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิง ว่า ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ค. เริ่มพบผู้ป่วยฝีดาษลิงในประเทศแถบยุโรป เชื่อมโยงการเดินทางไปทางแอฟริกา และนำเชื้อกลับมาสู่ประเทศในยุโรป ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในหลักร้อย ข้อมูล ณ วันที่ 23 พ.ค.2565 พบการระบาดใน 18 ประเทศ มีผู้ป่วยยืนยัน 169 คน ผู้ป่วยสงสัย 88 คน รวม 257 คน

 

 

ส่วนข้อมูลทางระบาดวิทยา พบว่า ในจำนวนผู้ป่วย 123 คน เป็นชาย 122 คน หญิง 1 คน อายุ 20-59 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน ยังไม่มีการแพร่ระบาดไปยังเด็ก หรือผู้สูงอายุ โดยร้อยละ 98 เป็นผื่น ตุ่มนูน นอกจากพบผื่นบริเวณใบหน้า แขน ขา ยังพบบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น อวัยวะเพศ ร้อยละ 39, ปาก ร้อยละ 30 และทวารหนัก ร้อยละ 2 ขณะนี้สายพันธุ์ที่ตรวจพบเป็น West African Clade 9 คน ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ Central Afican clade ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางมาจากประเทศที่พบการแพร่ระบาด

 

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วย หรือผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง และไม่เคยมีรายงานโรคนี้มาก่อน จึงต้องเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้าประเทศเป็นหลัก รวมทั้งเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งทางห้องปฏิบัติการและเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ทีมสอบสวนโรค และเวชภัณฑ์ ยา วัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์

 

ทั้งนี้ แนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร โดยมีนิยามผู้ป่วยสงสัย คือ มีไข้ และมีอาการป่วยอย่างน้อย 1 อย่าง คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีผื่น ตุ่มนูน กระจายตามใบหน้า ลำตัว ร่วมกับมีประวัติเดินทางมาจาก/อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายงานการระบาด, มีประวัติร่วมกิจกรรมในงานที่มีรายงานพบผู้ป่วยเข้าข่าย/ยืนยัน และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นำเข้าจากทวีปแอฟริกา

ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในไทย ต้องเฝ้าระวังจากนักเดินทางที่เข้าไทยเป็นหลัก

สำหรับฝีดาษลิงเป็นโรคจากสัตว์สู่คนเป็นหลัก แต่เมื่อเริ่มติดต่อจากคนสู่คน ทำให้การระบาดเพิ่มขึ้น โดยสัตว์ที่เป็นรังโรค คือ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู และลิง แต่ยังอยู่ในแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ ระยะฟักตัว อยู่ที่ 5-21 วัน ช่วง 5 วันแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ หมดแรง ปวดกล้ามเนื้อ และช่วงออกผื่น (ภายใน 1-3 สัปดาห์) เริ่มจากใบหน้า ลำตัว แขนขา ลักษณะเหมือนกันทั้งร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ แต่ในผู้ที่มีอาการรุนแรง อาจปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง