คอนแท็กต์เลนส์อัจฉริยะ Mojo Vision พร้อมทดสอบการใช้งาน

Logo Thai PBS
คอนแท็กต์เลนส์อัจฉริยะ Mojo Vision พร้อมทดสอบการใช้งาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บริษัทผู้ผลิตในสหรัฐฯ แจ้งความคืบหน้าการผลิตคอนแท็กต์เลนส์อัจฉริยะตัวต้นแบบ หรือจอแสดงผลที่บางเป็นพิเศษ พร้อมให้ทดสอบการใช้งานแล้ว

Mojo Vision บริษัทผู้ผลิตคอนแท็กต์เลนส์อัจฉริยะ (Smart Contact Len) ในสหรัฐฯ ได้เผยถึงความคืบหน้าของการผลิตคอนแท็กต์เลนส์ตัวต้นแบบ ซึ่งมีความบางและเล็กเป็นพิเศษจนสามารถนำมาติดเข้ากับดวงตาได้ เพื่อใช้แก้ปัญหาทางสายตา และใช้เป็นจอแสดงผลคล้ายจอคอมพิเตอร์ พร้อมให้ทดสอบใช้งานแล้ว

บริษัทผู้ผลิตคอนแท็กต์เลนส์อัจฉริยะ Mojo Vision ใช้เวลามากกว่า 7 ปีในการพัฒนาคอนแท็กต์เลนส์ชนิดพิเศษนี้ จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ตัวต้นแบบ หรือคอนแท็กต์เลนส์อัจฉริยะรุ่นแรก และพร้อมที่นำมาทดสอบการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน

คอนแท็กต์เลนส์อัจฉริยะ ของบริษัท Mojo Vision ประกอบจากโครงสร้างของเลนส์บางขนาดใหญ่ที่สามารถคลุมดวงตาได้ทั้งดวง ซึ่งภายในเลนส์ยังมีจอ microLED เซนเซอร์อัจฉริยะ แบตเตอรี่ที่ควบคุมระยะเวลาการใช้งานของคอนแท็กต์เลนส์อัจฉริยะ นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเทคโนโลยีแบบ eye-tracking และการแสดงผลบนจอภาพของดวงตามาใช้ จึงทำให้ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นข้อมูลทุกอย่าง เหมือนมีจอแสดงผลของคอมพิวเตอร์ติดอยู่ที่ดวงตา

ความสามารถของคอนแท็กต์เลนส์อัจฉริยะ นอกจากจะช่วยแก้ไขความผิดปกติของสายตาแล้ว ยังช่วยให้ผู้ใช้มองเห็นข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ผ่านจอแสดงผลของคอนแท็กต์เลนส์ได้ในทันที โดยไม่ต้องหันไปมองจอคอมพิวเตอร์ หรือก้มมองอุปกรณ์สมาร์ตโฟน ผู้ผลิตได้ยกตัวอย่างการใช้งานของนักดนตรีที่สามารถมองเห็นเนื้อเพลงหรือโน้ตดนตรี และนักวิ่งที่มองเห็นระยะทางที่เหลือได้ผ่านคอนแท็กต์เลนส์อัจฉริยะ

คอนแท็กต์เลนส์อัจฉริยะสามารถทำงานได้ดีในห้องทดลอง แต่ยังไม่ได้มีการทดสอบการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน จึงทำให้เกิดคำถามเรื่องความปลอดภัยหากต้องใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ผลิตได้พูดถึงขั้นตอนการทำงานว่ามีการทดสอบคอนแท็กต์เลนส์ร่วมกับจักษุแพทย์ เพื่อหาแนวทางการใช้งานให้ปลอดภัย และตั้งเป้าให้คอนแท็กต์เลนส์อัจฉริยะสามารถใช้งานได้ตลอดวันโดยไม่ต้องถอดมาชาร์จแบตเตอรี่


ที่มาข้อมูลและภาพ: mojo.vision, forbes, hackaday
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง