รถไฟฟ้าเขียวจากมุม "ชัชชาติ"

การเมือง
27 พ.ค. 65
14:47
571
Logo Thai PBS
รถไฟฟ้าเขียวจากมุม "ชัชชาติ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

โครงการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะเป็นเมกะโปรเจคท์แรกที่จะท้าทายจุดยืนของ ว่าที่ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯคนใหม่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หลังจากในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง มีแนวทางชัดเจนคือไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทานโครงการนี้ออกไป จากเดิมสิ้นสุดสัมปทานปี 2572

ที่สำคัญ จะไม่ใช่เพียงท้าทายจุดยืนเรื่องนี้เท่านั้น แต่จะท้าทายผลในทางปฏิบัติจากการตัดสินใจครั้งนี้ด้วย เพราะมีแนวโน้มจะมีเอฟเฟคท์ตามมาแน่นอน เพียงแต่คนทั่วไปไม่รู้ไส้ใน มีการกำหนดทีโออาร์หรือบทลงโทษไว้อย่างไร

ถ้าจำกันได้ โครงการนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งเห็นต่างระหว่างรัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรัฐมนตรี และดูแลกทม.อีกชั้นหนึ่ง กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ถึงขั้นบอยคอตรัฐมนตรีทุกคนของพรรคไม่ร่วมประชุมครม.เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 65 มาแล้ว

โดยอ้างไม่เห็นด้วยและความไม่ชัดเจนใน 4 ประเด็นสำคัญ หลักๆคือเรื่องทรัพย์สินและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทรัพย์สินดังกล่าว เรื่องความถูกต้องหรือไม่ ตามกฎหมาย และเรื่องราคาค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายไม่เกิน 65 บาท ที่ทางภูมิใจไทยเห็นว่าสูงไป สามารถลดลงได้อีก

ขณะที่กระทรวงมหาดไทย กลับสนับสนุนและเคลื่อนไหวนำเข้าที่ประชุมครม.เพื่อขอความเห็นชอบ และจะได้เดินหน้าต่อหลายครั้งหลายหนมาก จนถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีอะไรพ่วงอยู่ด้วยหรือไม่ และมีฟีดแบกต่อต้านเกิดขึ้นจากหลายภาคส่วน จนนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องสั่งเบรกไว้ก่อน และให้มหาดไทยทำรายงานชี้แจงความชัดเจนใน 4 ข้อ ให้พรรคภูมิใจไทยรับทราบ

ความอึมครึมไม่ชัดเจน และถูกมองว่าประชาชนผู้ใช้บริการจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงรายได้ที่รัฐพึงจะได้ หากเปิดให้มีสัมปทานใหม่ เมื่อครบสัญญาปี 2572 ทำให้มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ หลายคน นำเรื่องปัญหาเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง ส่วนใหญ่คือไม่เห็นด้วย ในจำนวนนี้ รวมทั้งนายชัชชาติ ด้วย

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ แสดงท่าทีอยากให้นายชัชชาติ เข้าไปปรึกษาหารือเรื่องนี้โดยเร็ว ยิ่งช้า ยิ่งเสียผลประโยชน์ ประชาชนก็เดือดร้อน สอดคล้องกับพล.อ.อนุพงษ์ ที่ตอบพูดกระทู้สดเมื่อวันก่อน ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่าให้เป็นการตัดสินใจของผู้ว่ากรุงเทพฯ คนใหม่

ดังนั้น สปอตไลท์ทั้งหลาย จึงจับจ้องไปที่นายชัชชาติ ที่มีมุมมองต่อเรื่องนี้แตกต่างไปจากรัฐมนตรีจจากภูมิใจไทย ในหลายประเด็น เพราะว่าที่ผู้ว่าฯ คนใหม่ มองไปถึงเรื่องหนี้ คือหนี้ 4-5 หมื่นล้านด้วย หลังจากรัฐบาลสร้างไว้ แล้วโอนมาให้ กทม.

หนี้ส่วนนี้ กทม.รับมาถูกต้องหรือไม่ ได้ผ่านการพิจารณาจากสภา กทม.ตามขั้นตอนแล้วหรือไม่ หนี้ก้อนนี้ รัฐบาลจะช่วยแบกรับได้หรือไม่ ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่คนทั่วไปจะวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการโยนหนี้ไปให้กทม.ทั้งหมด

ยังมีเรื่องไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน หรือกฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 ที่กำหนดการลงทุนมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ควรต้องผ่าน พรบ.ร่วมทุนฯ เท่ากับผิดหลักการตั้งแต้ต้น

นายชัชชาติยังไม่เห็นด้วยกับเรื่องราคาค่าโดยสารสูงสุดตลอดสาย 65 บาท และจะมีผลประโยชน์ที่ กทม.จะได้รับ เช่น โฆษณาบนรถไฟฟ้าสายนี้ ปีละ 2,000- 3,000 ล้านบาท จึงเป็นหนึ่งในหลุมดำ ที่นายชัชชาติ ตั้งเป็นคำถามไว้และจะต้องไปตรวจสอบความจริงใน 3 เรื่องต่อ คือ1.เรื่องหนี้ 2.การจ้างเดินรถว่าถึงปี 2585 และ 3.เรื่องต่อสัมปทาน

จึงเป็นเมกะโปรเจคท์แรก ที่จะสะท้อนจุดยืนอย่างจริงจังของนายชัชชาติ ว่าจะเอาอย่างไร จะชนจริง หรือจะลดแรงปะทะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง