"ทะเลดำ" เส้นเลือดใหญ่ความมั่นคงทางอาหารโลก

ต่างประเทศ
27 พ.ค. 65
19:34
976
Logo Thai PBS
"ทะเลดำ" เส้นเลือดใหญ่ความมั่นคงทางอาหารโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันนี้ (27 พ.ค.2565) สงครามรัสเซีย ยูเครนยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 4 และเริ่มสร้างปัญหาความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก หลังจากรัสเซียส่งกองเรือทะเลดำปิดล้อมเมืองท่าริมชายฝั่งทางภาคใต้ของยูเครน ส่งผลให้เรือขนส่งสินค้าไม่สามารถเดินเรือได้ตามปกติ ทะเลดำสำคัญต่อการส่งออกสินค้าของยูเครนอย่างไร

ทะเลดำเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการส่งออกสินค้าทางการเกษตรและวัตถุดิบต่าง ๆ จากยูเครนไปยังหลายประเทศทั่วโลก สงครามในครั้งนี้กำลังสร้างปัญหาความมั่นคงทางอาหารเนื่องจากยูเครนถือเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารชั้นนำของโลก ร้อยละ 70 ของข้าวสาลี วัตถุดิบตั้งต้นของอาหารหลักหลายอย่างที่หล่อเลี้ยงปากท้องของประชากรโลกมาจากยูเครน

สำนักข่าว interfax สื่อทางการรัสเซีย รายงานว่า เรือสินค้าอย่างน้อย 70 ลำจาก 16 ประเทศเทียบท่าอยู่บริเวณท่าเรือ 6 แห่งในแถบทะเลดำ หลังจากรัสเซียส่งกองเรือทะเลดำปิดล้อมน่านน้ำนานกว่า 3 เดือน ทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือต้องหยุดชะงักลงไป การปิดล้อมเมืองท่าริมชายฝั่งทำให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตัน ตกค้างภายในโกดังสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร

ด้านโครงการอาหารโลก (เอฟเอโอ) เตือนว่า ภาวะขาดแคลนอาหารในหลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต

ทะเลดำมีความสำคัญต่อการค้าของรัสเซียและยูเครนเนื่องจากทั้ง 2 ประเทศพึ่งพาน่านน้ำนี้ในการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเมืองโอเดสซา เคอร์ซอนและมิโคลาอีฟ ทางภาคใต้ของยูเครนเป็นเมืองท่ากระจายผลผลิตไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกผ่านคลองสุเอซ

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่าเมื่อปี 2020 ร้อยละ 95 ของการส่งออกข้าวสาลีจากยูเครนต้องผ่านทางทะเลดำ การปิดกั้นไม่ให้ยูเครนส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลกทำให้รัสเซียถูกตราหน้าว่าใช้อาหารเป็นอาวุธสร้างความปั่นป่วนทั่วโลก

ฝั่งรัสเซียยื่นข้อเสนอให้ชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเปิดน่านน้ำทะเลดำให้เรือขนส่งสินค้า โดยการใช้อาหารเป็นเครื่องมือให้อีกฝ่ายยอมจำนนเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1932 หรือเมื่อ 90 ปีที่แล้วในสมัยอดีตสหภาพโซเวียต หลังจากโจเซฟ สตาลิน หันมาใช้ระบบนารวมบังคับให้ยูเครนต้องส่งพืชผลทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวได้ไปยังส่วนกลาง

นโยบายดังกล่าวทำให้เกิดมหาทุพภิกขภัย หรือ โฮโลโดมอร์ ในยูเครนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3.5 ล้านคน หากรัสเซียตัดสินใจรุกคืบไปยังพื้นที่ทางภาคใต้ของยูเครนอาจทำให้สงครามยืดเยื้อต่อไปจนถึงช่วงปลายปีนี้

สภาวการณ์ดังกล่าวคงส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามคือชาติตะวันตกจะยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเพื่อแลกเปลี่ยนกับการเปิดน่านน้ำในทะเลดำได้หรือไม่

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง