31 พ.ค.-2 มิ.ย. เกาะติดอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบฯ 3.18 ล้านล้าน

การเมือง
29 พ.ค. 65
11:30
319
Logo Thai PBS
31 พ.ค.-2 มิ.ย. เกาะติดอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบฯ 3.18 ล้านล้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รองโฆษกรัฐบาล เชิญประชาชนติดตามการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 วันที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย. วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท แก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้ารวม 2.7 แสนล้านบาท

วันนี้ (29 พ.ค.2565) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย.ว่า เป็นโอกาสสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะได้ชี้แจงถึงความจำเป็นและแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย แผนงานโครงการต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และแก้ไขปัญหาสืบเนื่องจากความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งครอบคลุมด้านความมั่นคง การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ วงเงินงบประมาณรวม 3.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 78.2% และรายจ่ายลงทุน 21.8%

 

สำหรับการดำเนินการของปี 2566 รัฐบาลได้กำหนดแผนงาน/โครงการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า งบประมาณรวม 2.7 แสนล้านบาท เกี่ยวข้อง 14 กระทรวง 265 โครงการ มีเป้าหมายคนจนในประเทศไทยลดลงอย่างยั่งยืน แบ่งเป็น 5 ด้าน ตัวอย่างของแต่ละด้าน มีเป้าหมายดังนี้

  • ด้านรายได้ งบประมาณ 1.73 แสนล้านบาท เช่น การช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาความยากลำบาก ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.4 ล้านคน คนพิการไม่น้อยกว่า 2.09 ล้านคน เด็กเล็ก 2.58 ล้านคน ผู้ป่วยเอดส์ 8.8 แสนคน ลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร เพิ่มพื้นที่ชลประทานแก่เกษตรกร
  • ด้านการศึกษา งบประมาณ 1.81 หมื่นล้านบาท เช่น การสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ 2.62 ล้านคน ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 6.6 แสนคน
  • ด้านสุขภาพ งบประมาณ 7.01 หมื่นล้านบาท เช่น การดูแลค่ารักษาผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 13.45 ล้านคน ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาล 494 แห่ง
  • ด้านความเป็นอยู่ งบประมาณ 7.16 พันล้านบาท เช่น จัดที่ดินทำกินแก่ประชาชนที่ยากจน ขยายการเข้าถึงน้ำประปาเพิ่ม 2 แสนครัวเรือน ส่งเสริมโอกาสให้คนจนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
  • ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ 2.16 พันล้านบาท เช่น คุ้มครองผู้ประสบภัยทางสังคม แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์ สนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนผ่านกองทุนสวัสดิการชุมชน

น.ส.รัชดา ยังกล่าวเชิญชวนประชาชนติดตามการอภิปราย ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ เพื่อจะได้ทราบแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาล รวมทั้งโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญคือเป็นโอกาสการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการตรวจสอบของภาคประชาชน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง