สภาฯ เตรียมโหวตรับหลักการร่างงบฯ 2566

การเมือง
2 มิ.ย. 65
19:06
458
Logo Thai PBS
สภาฯ เตรียมโหวตรับหลักการร่างงบฯ 2566
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันสุดท้ายแล้ว สำหรับการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ส.ส.พรรคก้าวไกลตั้งข้อสังเกตการจัดสรรงบฯ กองทัพที่แม้งบประมาณจะลดลง แต่พบว่างบประมาณด้านบุคลกรกลับสูงขึ้น

วันสุดท้ายแล้ว สำหรับการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 โดยตลอดทั้งของการอภิปรายพรรคการเมืองฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตถึงการจัดสรรงบประมาณ ที่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่งบประมาณด้านบุคลากรภาคของรัฐ จำนวน 3 ใน 4 ของสัดส่วนงบประมาณทั้งหมด


ขณะที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า แม้กระทรวงกลาโหมจะลดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธลง แต่ 77% ของงบประมาณกลับถูกจัดสรรให้เป็นเรื่องของบุคลากร และมองว่ากำลังพลของกองทัพมีจำนวนมากเกินไปหรือไม่

ผมสงสัยเหลือเกินว่า สุดท้ายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ เป็น รมว.กลาโหม หรือเป็นสมุหกลาโหมสมัยกรุงศรีอยุธยา เหมือนกำลังรวบรวมไพร่พลทหารราบไว้รบกับข้าศึก เราจะใช้งบฯ ให้คุ้มค่าได้อย่างไร เพราะ 77% ของงบประมาณที่จัดสรรให้หมดไปกับค่าคน


ร่างงบฯ  ปี 2566 ในส่วนของกระทรวงกลาโหมปีนี้ตั้งรับงบประมาณ 197,293 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่ถูกจับตาตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายค้านทุกปี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าพยายามใช้งบฯกลาโหมอย่างจำกัด ซื้อยุทโธปกรณ์เท่าที่จำเป็น เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคตที่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์อะไร ส่วนประเด็นการทุจริตไม่โปร่งใสหากเกิดขึ้นให้เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม

สอดคล้อง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กระทรวงกลาโหม แจงปรับลดงบฯต่อเนื่องมา 4 ปี ยืนยันจัดซื้อเท่าที่จำเป็น และไม่ได้ตั้งป้อมไปรบกับใคร หลัง ส.ส.พรรคก้าวไกลอภิปรายชี้งบฯ กลาโหม "ไม่คุ้มค่า-ไม่ตอบโจทย์-ไม่โปร่งใส" ห่วงจะเสียค่าโง่เรือดำน้ำกว่าหมื่นล้าน หากจัดซื้อไม่ได้ รวมถึงการตั้งงบฯ ส่วนใหญ่เน้นไปที่บุคลากร


ทั้งนี้ แนวทางการโหวตเบื้องต้น เสียงพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงกลุ่ม 16 และพรรคเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะโหวตไปในแนวทางเดียวกัน คือ การรับหลักการร่างงบประมาณ แต่อาจมีบางส่วนที่เสียงแตกออกไปโหวตงดออกเสียง ซึ่งขณะนี้หากรวมเสียงพรรคร่วมมี 274 เสียง ส่วนฝ่ายค้านมี 210 เสียง

หากสภาฯ รับหลักการจะตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา 64 คน สัดส่วน ครม.16 คน และพรรคร่วมมรัฐบาล 27 คน รวม 43 คน และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 21 คนตามสัดส่วน โดยจะเริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ คาดวางกรอบชั้นกรรมาธิการ 60 วัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง