"ชัชชาติ" สั่งหยุดร้อยสายลงดิน แก้ฝาท่อเรียบเท่าพื้นถนน

สังคม
4 มิ.ย. 65
15:03
1,130
Logo Thai PBS
"ชัชชาติ" สั่งหยุดร้อยสายลงดิน แก้ฝาท่อเรียบเท่าพื้นถนน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ชัชชาติ" สำรวจโครงการก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง ที่ถ.พระราม 3 หลังจากมีประชาชนร้องเรียนว่า "ถนนไม่เรียบ" กฟน.ระงับการก่อสร้างชั่วคราวทุกจุด แล้วปรับปรุงฝาบ่อพักให้เรียบกับผิวถนน

วันนี้ (4 มิ.ย.2565) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. สำรวจโครงการก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน งานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง บน ถ.พระรามที่ 3 หน้าสวนศิลาฤกษ์ (ใต้สะพานภูมิพล) ถ.พระรามที่ 3 เขตยานนาวา และหน้าสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (ใต้สะพานพระราม 9) ถ.พระรามที่ 3 เขตบางคอแหลม

 

หลังจากได้รับร้องเรียนว่าถนนไม่เรียบ จากการก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง บริเวณ ถ.พระรามที่ 3 จึงลงพื้นที่ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง สำนักการโยธา กทม. และสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการปรับปรุงพื้นที่การก่อสร้างบ่อพักฯ ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ได้ระงับการก่อสร้างชั่วคราวทุกจุด เพื่อปรับปรุงฝาบ่อพักให้เรียบ ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างต่อไป

 

สำหรับการปรับปรุงฝาบ่อพัก เป็นการปรับขอบบ่อให้เรียบกับผิวจราจร ปรับปรุงรูปแบบคานของเดิม ที่รองรับผิวจราจรด้านบน ด้วยการรื้อผิวจราจรรอบบ่อเป็นระยะประมาณ 1 เมตร แล้วเทคอนกรีตใหม่ติดกับโครงสร้างของบ่อ ซึ่งจะทำให้การทรุดตัวบริเวณปากบ่อไม่เกิดขึ้น และผิวจราจรเกิดความเรียบเสมอกัน รวมทั้งการทำฝาบ่อให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ใช้จำนวนฝาน้อยลง ลดรอยต่อของฝาบ่อ ทำให้ฝาบ่อเรียบเสมอกับผิวจราจรมากขึ้น

 

ส่วนการจัดระเบียบสายสื่อสาร ปัจจุบันสายสื่อสารที่อยู่บนดิน จะใช้เสาของการไฟฟ้านครหลวงเป็นหลัก จากการหารือกันได้ข้อสรุปว่า ต้องเร่งจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยในระยะแรก อาจจะยังไม่ต้องนำสายสื่อสารลงใต้ดิน แต่ต้องแก้ไขความไม่เป็นระเบียบ โดยนำสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้แล้วออก

จากนั้นจะต้องหารือร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง กสทช. และผู้ประกอบการ เพื่อให้ได้แนวทางข้อยุติร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการต่อไป

ในส่วนของปัญหาเรื่องแสงสว่าง ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ไฟดับหลายแห่ง ที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานครในการลงทุนจัดซื้อหลอดไฟ

ส่วนการไฟฟ้านครหลวงจะเข้ามาดูแลในเรื่องการจ่ายค่าไฟ โดยปัจจุบันทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ มีไฟประมาณ 5 แสนดวง และสำนักการโยธามีโครงการที่จะติดตั้งไฟใหม่อีก 10,000 ดวง เพื่อกระจายความสว่างให้กับคนกรุงเทพฯ โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง