ผู้ปกครองเห็นด้วยปรับแบบชุด"ลูกเสือ-เนตรนารี"ช่วยลดค่าใช้จ่าย

สังคม
6 มิ.ย. 65
13:58
736
Logo Thai PBS
ผู้ปกครองเห็นด้วยปรับแบบชุด"ลูกเสือ-เนตรนารี"ช่วยลดค่าใช้จ่าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ปกครองสะท้อนเสียงเห็นพ้องปรับรูปแบบชุด "ลูกเสือ-เนตรนารี" ช่วยลดบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ขณะที่บางส่วนยังเห็นว่าหลักสูตรวิชาลูกเสือยังมีความจำเป็นเนื่องจากเป็นการเสริมทักษะ และประสบการณ์นอกห้องเรียน

จากกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ค่าใช้จ่ายชุดลูกเสือ เนตรนารี สูงหลักพันบาท แต่ใช้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ขณะที่บางโรงเรียนได้อนุโลมปรับให้ใช้ผ้าผูกคอกับชุดนักเรียน หรือชุดพละได้ ช่วยลดภาระผู้ปกครองในช่วงสถานการณ์ COVID-19

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ได้พูดคุยกับผู้ปกครองบางส่วนถึงกรณีดังกล่าว โดยส่วนใหญ่ค่อนข้างเห็นด้วยหากมีการปรับรูปแบบของเครื่องแต่งกายเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยมีความเห็น ดังนี้

ปรับรูปแบบเพิ่มความคล่องตัว 

สุกานดา ทองประศรี ผู้ปกครองซึ่งมีลูกชาย 3 คน ที่ขณะนี้ บุตรชายคนโตเรียนชั้น ป.1 และ คนที่ 2 เรียนอยู่ชั้นอนุบาล ขณะที่คนเล็กยังไม่เข้าเรียน ซึ่งบุตรชายคนโตและคนที่ 2 เรียนอยู่ที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในย่านปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ ซึ่งเธอเล่าว่า ขณะนี้มีค่าใช้จ่ายของบุตร 2 คน รวมประมาณเทอมละ 50,000 บาท 

บุตรคนโตจะมีค่าเทอมราว 30,000 บาท ค่าหนังสือ 6,000 บาท ค่าชุดนักเรียน 3,000 บาท โดยค่าชุดลูกเสือสำรองจะอยู่ที่ประมาณ 500 บาท และ ค่าขนมไปโรงเรียนวันละ 10 - 20 บาท ขณะที่บุตรคนกลางจะมีค่าใช้จ่ายราว 20,000 บาท

ดังนั้น จึงค่อนข้างเห็นด้วยกับการปรับรูปแบบชุดลูกเสือ เพื่อช่วยลดภาระผู้ปกครอง โดยเฉพาะในส่วนของลูกเสือสามัญที่มีเครื่องแบบและอุปกรณ์ที่ค่อนข้างมาก และอาจเป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้ รวมถึงหากมีการรูปแบบของชุดลูกเสือให้ลดลงเหลือเพียงผ้าพันคอใส่รวมกับชุดพละก็จะช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายได้ 

รวมถึงยังเพิ่มความคล่องตัวและสบายมากขึ้น โดยเฉพาะในนักเรียนชั้นประถมปลายที่เครื่องแบบลูกเสือมีอุปกรณ์และเครื่องประดับค่อนข้างมากทำให้ไม่คล่องตัวในการเดินทางมาโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่ไม่มีผู้ปกครองมารับ-ส่ง

สุกานดา ยังระบุว่า ขณะที่ทางโรงเรียนค่อนข้างมีความเข้าใจ และมีแนวทางในการยืดหยุ่นเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองมากขึ้น เช่น ค่าเทอมที่สามารถแบ่งจ่าย ทั้งการใช้บัตรเครดิตผ่อน 0 % หรือ แบ่งการชำระเป็น 3 งวด

ครอบครัวที่มีความสามารถในการใช้จ่ายอาจไม่กระทบ แต่กับครอบครัวที่มีรายได้ไม่มากนักก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แม้ว่าจะมีความช่วยเหลือจากรัฐบาลบางส่วนจากเงินอุดหนุนชุดนักเรียน 300 บาท ซึ่งอาจไม่เพียงพอ หรือ นมโรงเรียน ดังนั้นหากลดภาระบางส่วนให้ผู้ปกครองได้ก็ถือว่าดี

ไม่ควรตัดวิชาลูกเสือ-เนตรนารี

ด้านนางวรธิดา สัมพันธ์วงษ์ ผู้ปกครองคนหนึ่ง ใน จ.ราชบุรี ซึ่งมีบุตรสาวเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ระบุว่า ค่าใช้จ่ายโดยรวมจะอยู่ที่ราว 20,000 บ.โดยค่าเทอมจะอยู่ที่ 15,000 บาท ค่าชุดนักเรียน 2 ชุด ชุดละ 600 บาท รวม 1,200 บาท ชุดเครื่องแบบเนตรนารีประมาณ 1,000 บาท ชุดพละ 500 บาท และ ชุดกีฬาสี 350 บาท

ขณะที่ค่าอาหารกลางวันและขนมที่ใช้จ่ายในโรงเรียนสัปดาห์ละ 300 บาท และ ค่าขนมวันละ 100 บาท ซึ่งครอบครัวยังสามารถดูแลได้ เนื่องจากมีบุตรสาวเพียง 1 คน จึงไม่กระทบมากนัก

ขณะที่ค่าใช้จ่ายชุดเครื่องแบบเนตรนารีหากมีการปรับรูปแบบลดลงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายก็เห็นด้วย แม้ว่าส่วนตัวจะพอใจที่ลูกสวมใส่เครื่องแบบเนตรนารี เนื่องจากมองว่า มีความสุภาพ น่ารัก แต่อาจจะกระทบครอบครัวอื่นที่มีภาระก็อาจจะปรับให้เหลือเพียงผ้าพันคอก็ได้

เรามีลูกสาวคนเดียวยังดูแลค่าใช้จ่าย ๆ ต่างได้ เพราะวางแผนไว้แล้ว แต่ถ้ามีลูกมากกว่านี้ก็จะลำบากขึ้น ซึ่งตอนนี้ไม่จำเป็นต้องซื้อเผื่อโต สามารถซื้อชุดที่ขนาดพอดีให้ลูกสาวได้ใส่และเปลี่ยนใหม่ได้เมื่อโตขึ้นตามความเหมาะสม  

ทั้งนี้ ลูกสาวซึ่งเรียนอยู่ในชั้น ป.6 ก็อาจจะปรับรูปแบบของชุดเนตรนารีไม่ทัน และขณะนี้ได้ซื้อชุดใหม่ให้แล้ว เนื่องจากโตขึ้น ชุดที่ซื้อเมื่ออยู่ชั้น ป.4 ไม่สามารถใส่ได้แล้ว แต่ยังคงเก็บไว้ให้หลานใส่ เนื่องจากชุดยังใหม่ เพราะงดการเรียนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับรูปแบบเครื่องแต่งกายชุดเนตรนารีก็เห็นด้วย แต่ในเรื่องของหลักสูตรวิชาลูกเสือ - เนตรนารี เห็นว่า ควรที่จะยังคงให้มีการสอนเช่นเดิม

เนื่องจากเป็นวิชาที่เพิ่มทักษะชีวิตในด้านต่าง ๆ และช่วยผ่อนคลายความเครียดในส่วนของวิชาการ ซึ่งหากเป็นนักเรียนที่อยู่ในเขตเมืองมาก ๆ ก็อาจจะไม่มีประสบการณ์นอกห้องเรียนเลยหรือมีก็น้อยมาก การที่มีวิชาดังกล่าวก็เป็นการช่วยเสริมประสบการณ์ให้พวกเขาได้

ครอบครัวของเรามักที่จะพาลูกไปตั้งแคมป์ ที่อุทยานฯต่างอยู่เป็นประจำ ลูกสาวจึงได้เรียนรู้ประสบการณ์นอกห้องเรียนค่อนข้างบ่อย และบ้านอยู่ต่างจังหวัดจึงสามารถทำแบบนี้ได้ แต่กรณีของเด็กที่อยู่ในเมืองอาจไม่มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตในแบบนี้มากนัก การเรียนในวิชาลูกเสือและเนตรนารีอาจจึงเป็นวิชาที่ช่วยเสริมทักษะในเรื่องเหล่านี้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง