"นันทนา" ชี้การทำงานของ "ชัชชาติ" จะเป็นมาตรฐานใหม่ของผู้นำ

การเมือง
7 มิ.ย. 65
13:48
1,549
Logo Thai PBS
"นันทนา" ชี้การทำงานของ "ชัชชาติ" จะเป็นมาตรฐานใหม่ของผู้นำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักสื่อสารการเมือง เผยความมุ่งมั่นทำงานของ "ชัชชาติ" จะเป็นมาตรฐานใหม่ของผู้นำระดับจังหวัดและระดับชาติ แนะรัฐบาลให้ความร่วมมือและสนับสนุนให้นโยบายทั้ง 214 ข้อสำเร็จ เพื่อประชาชน

วันนี้ (7 มิ.ย.2565) นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก วิเคราะห์ภาวะผู้นำของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้คนกรุงเทพฯ กว่า 1,300,000 คน ลงคะแนนเลือก นายชัชชาติ คือ 6 ช. ได้แก่ ช.ชัดเจน, ช.เชี่ยวชาญ, ช.ช่ำชอง, ช.ช่วยเหลือ, ช.ช่างทำ และ ช.เชื่อถือได้ ซึ่งแตกต่างจากผู้นำบางคนที่มี 3 ช.คือ ช.ช่างพูด, ช.โชว์พาว, ช.ชักใบให้เรือเสีย

 

ความเป็นนายชัชชาติ ที่มุ่งมั่นทำงานและมีภาวะความเป็นผู้นำที่ดีในขณะนี้ จะกลายเป็นมาตรฐานและบรรทัดฐานของผู้นำทั้งระดับจังหวัดและผู้นำระดับชาติ ให้มีความตื่นตัวและต้องทำงานหนักให้กับประชาชน เป็นมาตรฐานใหม่ที่จะกดดันผู้นำทุกคน

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ส่งผลสะเทือนถึงพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด พวกเขาอยากเลือกผู้ว่าฯ ของตัวเอง อยากได้คนแก้ปัญหา ไม่ใช่คนที่มหาดไทยส่งมา

 

นันทนา กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นมหานครใหญ่ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากนายชัชชาติ ไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล คาดว่ามีปัญหาแน่

รัฐบาลแม้จะอยู่คนละพรรค ก็ไม่ได้แปลว่าต้องค้านให้ถึงที่สุด แต่จำเป็นต้องให้การสนับสนุน ควรประสานงานและให้ความร่วมมือเพื่อประโยชน์ของประชาชน

 

คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง กล่าวด้วยว่า ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีจะมีความกังวลกับชัยชนะของนายชัชชาติ เห็นได้จากการแสดงความยินดีของนายกรัฐมนตรี ที่แสดงออกมาไม่เต็มที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรี มีความหวั่นไหวกับการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ของนายชัชชาติ เพราะได้เสียงจากประชาชนอย่างท่วมท้น

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวว่า ถ้านายชัชชาติ ทำนโยบายกว่า 200 สำเร็จ ก็มีอำนาจมากกว่านายกรัฐมนตรี จากประเด็นนี้มองว่า นายกรัฐมนตรี พยายามเปรียบเทียบตัวเองกับนายชัชชาติ ซึ่งไม่ควรเปรียบเทียบกัน เพราะระดับชาติกับระดับท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน

การคิดแบบนี้สะท้อนได้ว่า รัฐบาลมองการเป็นผู้ว่าฯ ของชัชชาติ เป็นการท้าทาย อาจจะไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งอาจจะร่วมมือหรือไม่ร่วมมือก็ได้ แต่สิ่งที่นายกฯ สื่อสารออกมา สะท้อนให้เห็นว่า เหมือนไม่ต้อนรับเท่าที่ควร

จากนี้ รัฐบาลต้องมองถึงประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ ก็คือประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ ถ้าไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ประสานงาน และไม่ทำให้นโยบายต่าง ๆ ของผู้ว่าฯ กทม.เป็นจริง จะไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง