นักวิชาการ TDRI ชี้เงินเฟ้องานหิน แนะรัฐอุ้มกลุ่มหาเช้ากินค่ำ

เศรษฐกิจ
7 มิ.ย. 65
19:36
395
Logo Thai PBS
นักวิชาการ TDRI ชี้เงินเฟ้องานหิน แนะรัฐอุ้มกลุ่มหาเช้ากินค่ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"นณริฏ" นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ เผยปัญหาเงินเฟ้อในไทยเกิดจากปัจจัยภายนอก กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำจะได้รับผลกระทบมากที่สุด รัฐต้องหานโยบายช่วยเหลือ

วันนี้ (7 มิ.ย.2565) นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงปัญหาเงินเฟ้อในไทยว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อเป็นปัจจัยภายนอก ตั้งแต่การฟื้นตัวจากโควิด-19 ไม่เท่าเทียมกัน

ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ เข้าถึงวัคซีนก่อน ฉีดวัคซีนได้รวดเร็วก็เปิดประเทศได้ก่อน ประกอบกับมีฐานะดี สามารถอัดฉีดเงินเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว จึงทำให้เกิดความต้องการสินค้าที่เพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น ขณะที่ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนอย่างจำกัดอย่างจีน ต้องปิดประเทศบางส่วน เพราะไม่มีวัคซีน mRNA

นอกจานี้ยังเกิดความไม่สมดุลทางด้าน supply chain และสงครามรัสเซียยูเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งน้ำมันเป็นพื้นฐานของการขนส่งและผลิตสินค้าและเกษตร

นายนณริฏ กล่าวว่า ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศไทยแตกต่างกับต่างประเทศ เงินเฟ้อที่สหรัฐฯ เกิดจากเศรษฐกิจของเขาดี คนมีเงินเพราะรัฐอัดฉีดเยอะ แต่เงินเฟ้อของประเทศไทย เกิดจากปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจเรายังไม่ฟื้นตัว

เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ยังเจอปัญหาราคาน้ำมันจากสงครามรัสเซียยูเครน 

ความท้าทายในขณะนี้ คือการแก้ปัญหาเงินเฟ้อของไทย ที่มีตัวเลือกไม่มาก สหรัฐฯ แก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการแตะเบรก ขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ไทยจะแตะเบรกอย่างสหรัฐฯ ไม่ได้ เพราะจะเกิดปัญหา เศรษฐกิจพัง แต่ถ้าเลือกไม่แตะเบรก เงินเฟ้อก็จะสูงมากขึ้น

ทางเลือกทั้ง 2 อย่าง ไม่มีทางไหนง่ายแบบสหรัฐฯ ของไทยเรายากและลำบากกว่า

นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ มองว่า วิกฤตในรอบนี้ เศรษฐกิจไทยโตอย่างเหลื่อมล้ำ ยังพอมีคนที่เอาตัวรอดได้ แต่คนจำนวนมากที่ไม่ไหวจะไปอยู่ที่ฐานราก ซึ่งรัฐจะต้องช่วยกลุ่มฐานรากให้มากขึ้น ต้องวางนโยบายให้คนหาเช้ากินค่ำรอดจากวิกฤตินี้

ทั้งนี้ ไทยยังมีทางเลือก 2 อย่าง คือ 1.ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องช่วยโปรโมทหรือทำอย่างไรให้ค่าเงินบาทไทยไม่อ่อนไปกว่าปัจจุบัน และ 2.รัฐต้องช่วยเหลือมาตรการด้านการคลัง

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง