10 ข้อควรระวังใช้ผลิตภัณฑ์ "กัญชา"

สังคม
8 มิ.ย. 65
14:45
7,688
Logo Thai PBS
 10 ข้อควรระวังใช้ผลิตภัณฑ์ "กัญชา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้ก่อนปลดล็อก 9 มิ.ย.นี้ 10 ข้อควรระวังใช้ผลิตภัณฑ์ "กัญชา" แนะควรศึกษาความเสี่ยงในระยะสั้นและยาว ผลกระทบด้านสมอง เช็กสัญญาณการติดกัญชา งดขับขี่หลังใช้อย่างน้อย 6 ชั่วโมง

วันนี้ (8 มิ.ย.2565) ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับข้อควรระวังการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา โดยระบุ

ตั้งแต่ 9 มิ.ย.2565 นี้ กัญชาทุกส่วนรวมถึง ช่อดอกซึ่งมี THC สูง จะไม่ถูกกำกับดูแลในฐานะสิ่งเสพติดในประเทศไทย และจะไม่มีกฎหมายกำกับดูแลการใช้ ไม่มีข้อจำกัดในการวางขายในช่องทางต่างๆ ไม่มีอายุที่ห้ามซื้อขาย ไม่มีสถานที่ห้ามเสพที่ชัดเจน จนกว่าจะมีกฎหมายที่กำกับดูแลการจัดการกัญชาให้ปลอดภัยแก่ประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังเป็นร่าง พ.ร.บ.ไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติเนื่องจากยังไม่เข้าวาระการพิจารณาในสภาฯ

ขณะที่ในประเทศที่เสรีกัญชาแบบเสพสันทนาการได้เขาจะมีการกำกับดูแลด้านต่างๆ ให้มีความปลอดภัย เช่น ด้านการผลิต การตรวจคุณภาพผลิตภัณฑ์ คุณภาพฉลากและหีบห่อ ช่องทางการซื้อขาย การจำกัดอายุและการเข้าถึงเด็ก เป็นต้น

 

ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ระบุว่า ในช่วงที่ พ.ร.บ.กัญชายังไม่ออกการกำกับดูแลในประเทศไทยจะไม่ระบุว่ากัญชาเป็นยาเสพติด แต่ไม่อาจเปลี่ยนความจริงที่ว่าสาร THC ที่พบใน ช่อดอกกัญชา มีฤทธิ์ทำให้เกิดการเสพติด เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคทางจิตประสาท และมีผลกระทบต่อสุขภาพในระบบต่างๆ

ที่สำคัญคือ ควันจากการสูบกัญชาที่มี THC นี้ สามารถทำให้คนรอบตัวได้รับสาร THC เข้าสู่ร่างกายได้ เป็นกัญชามือสอง เช่นเดียวกับบุหรี่มือสอง ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โดยสามารถตรวจพบสารและในบางการศึกษาพบว่าผู้ได้รับควันมือสองนี้มีอาการมึนเมาและอาการระคายเคืองจากควันร่วมด้วย

 

ยังไม่ถึงวันที่ 9 มิ.ย. ลองหากัญชาในช่องทางโซเชียลจะพบว่ามันมีขายผลิตภัณฑ์เพื่อการเสพ THC หลากหลายรูปแบบโดยไม่มีมาตรฐานกำกับดูแล อาจมีสารปนเปื้อนและเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงสารละลายในแบบบุหรี่ไฟฟ้าที่เคยสัมพันธ์กับการปอดอักเสบในสหรัฐอเมริกาก็มี

หากจะกล่าวว่ามีการกระจายของ THC สู่สังคมมากขึ้นแล้วก็คงจะไม่เกินจริงนักในช่วงที่ไม่มีการกำกับดูแล...การป้องกันตนเองและคนที่รักจึงเป็นสิ่งที่ต้องรู้เท่าทันและระวังความปลอดภัยด้วยตนเอง จนกว่า พ.ร.บ. จะออกมา หรือจะมีการเลื่อนการปลดล็อกออกไป 

10 ข้อพึงระวังใช้ผลิตภัณฑ์ "กัญชา"

การนำผลิตภัณฑ์ยากัญชามาใช้ ต้องได้รับการวินิจฉัย จากแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งมีคำแนะนำดังนี้  

1. ก่อนจะใช้กัญชาควรศึกษาความเสี่ยงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองในระยะสั้นและระยะยาว ผู้มีโรคประจำตัวปรึกษาแพทย์ก่อนโดยเฉพาะผู้มีโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช โรคปอด และระวังการเกิดปฎิกิริยาระหว่างยาประจำตัวกับกัญชา หรือจะถูกสารกัญชารบกวนจนเกิดผลร้ายหรือไม่ 

2. หากอายุน้อยกว่า 25 ปี อย่าใช้ช่อดอกกัญชาหรือสาร THC เนื่องจากมีโอกาสเกิดปัญหาต่อการพัฒนาทักษะด้านต่างๆทางสมอง โดยเฉพาะด้านการคิดอย่างมีเหตุผลซึ่งพบว่าหากมีการเสื่อมแล้ว แม้หยุดกัญชานานเป็นปีก็ไม่อาจคืนกลับเป็นปกติ ส่วนทักษะทางภาษาและความจำระยะสั้นสามารถกลับคืนเมื่อหยุดเสพกัญชาได้

3. การเริ่มใช้ควรเริ่มจากTHC (สารเมาหลอนและเสพติด) ปริมาณน้อย ไม่ควรใช้ในปริมาณสูงเพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ต้องเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินหรือ ICU 

4. การสูบกัญชาแบบเผาไหม้ บารากุ หรือแบบบุหรี่ไฟฟ้า ล้วนเกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจและเยื่อบุได้ ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งจากตัวกัญชา สารละลาย หรือสารปนเปื้อนอื่น หากมีอาการควรหยุดสูบในทันที

5. ผู้ที่จะทดลองสูบ กรูณาสูบอย่าลึกมาก และอย่าอัด กลั้นไว้ในปอด เพราะจะได้รับปริมาณสารเข้าสู่ร่างกายเยอะ ทั้งสาร THC และสารระคายเคืองต่างๆ ที่ระคายเคืองทางเดินหายใจ

 

6. คนรอบตัวที่ไม่ได้สูบยังอาจได้รับควันกัญชาได้ ฉะนั้นควรสูบในที่จัดเป็นสัดส่วนของคนสูบกันเอง เลี่ยงการสูบในที่มีเด็ก คนท้อง หรือผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ

7. หากมีสัญญาณของการติดกัญชา เช่น ใช้บ่อยขึ้นเยอะขึ้น ทำใจไม่ใช้ลำบาก เริ่มคิดถึงการใช้กัญชามากจนรบกวรการทำงาน การดำเนินชีวิต หรือความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมการใช้ 

8.งดขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง หลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาและการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาร่วมกับการดื่มสุราจะทำให้ความสามารถในการขับยานพาหนะลดลงมาก ดังนั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด

9. การเลือกผลิตภัณฑ์กัญชา ควรเลือกที่มีความน่าเชื่อถือ ระมัดระวังสารปนเปื้อน และเชื้อโรค ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง

10. หากพบคนรอบตัวบาดเจ็บจากผลิตภัณฑ์อาหารหรือขนมใส่กัญชา โดยไม่แจ้งผู้บริโภคควรเก็บรายละเอียดช่องทางการซื้อขาย ผลิตภัณฑ์ที่เหลือ รวมถึงหีบห่อ และติดต่อสายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค หรือนำส่งที่โรงพยาบาล พร้อมกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการกระจายของผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อน THC โดยไม่ระบุเหล่านี้

 

ทางศูนย์ฯ ระบุอีกว่า ในช่วงที่ยังไม่มีการกำกับดูแลการจัดการกัญชาหวังว่า พ.ร.บ. กำกับดูแล จะออกมาโดยเร็วที่สุดและมีความรัดกุมเพียงพอเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่สังคม

นอกจากนี้ทางศูนย์ยังระบุอีกว่า บริษัทต่างๆยังมีสิทธิ์ในกฎของบริษัทที่จะยอมให้มี THC ในตัวพนักงานหรือไม่ก็ได้ หากเขาไม่รับเข้าทำงาน ไม่เลื่อนขั้น หรือไล่ออก เพราะตรวจพบ THC เป็นสิทธิ์ตามกติกาของบริษัท และหากมีการเจ็บป่วยหรือมึนเมาเกิดอุบัติเหตุจากกัญชาประกันจะจ่ายเต็มไหมก็แล้วแต่บริษัทเช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รอง ผบ.ตร.ชี้ชัดใช้ "กัญชา" แบบไหนยังผิดกฎหมาย

ปล่อยตัวทันที 3,071 ผู้ต้องขังคดีกัญชา หลังปลดล็อก 9 มิ.ย.นี้

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง