ฝ่ายค้านเล็งอภิปรายไม่ไว้วางใจ "นายกฯ- 9 รมว." แย้มมีครบ " 3 ป."

การเมือง
9 มิ.ย. 65
13:30
606
Logo Thai PBS
ฝ่ายค้านเล็งอภิปรายไม่ไว้วางใจ "นายกฯ- 9 รมว." แย้มมีครบ " 3 ป."
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ฝ่ายค้านประกาศยุทธการอภิปรายไม่ไว้วางใจ "เด็ดหัว สอยนั่งร้าน" 10 รัฐมนตรี เผยมีครบ 3ป. มั่นใจมีคนพ้นรัฐมนตรีแน่

วันนี้ (9 มิ.ย.2565) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน แถลงมติเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 จากการหารือเรื่องยื่นญัตติในวันที่ 15 มิ.ย.นี้เวลา 10.00 น.จากข้อหารือกำหนดยุทธการที่กำหนดอภิปรายไม่ไว้วางใจ "เด็ดหัว สอย นั่งร้าน" 10 รัฐมนตรี

ทั้งนี้ จะเป็นการอภิปรายรายบุคคล โดย "เด็ดหัว" คือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ด้วยข้อกล่าวหาตามกรอบยุทธศาสตร์ 6 กรอบ คือ 1.ผิดพลาดบกพร่อง 2.จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กระทำผิดกฎหมาย และฝ่าฝืนจริยธรรม 3.การส่อทุจริตเอื้อประโยชน์ 4.ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา 5.ละเมิดสิทธิมนุษยชน และ 6.ทำลายระบอบประชาธิไตยรัฐสภา โดยข้อกล่าวหารัฐมนตรีแต่ละคนจะแตกต่างกัน และมั่นใจข้อมูล 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคไทยศรีวิไลย์ร่วมเขียนญัตติฯ

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า เบื้องต้น "เด็ดหัว" คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล ส่วนนั่งร้าน 9 คน เป็นรัฐมนตรีจาก 3 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ประกอบด้วยพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ โดยมี ครบ " 3 ป." 

ทั้งนี้ หากใกล้วันยื่นญัตติและมีข้อมูลมาใหม่ที่จะเพิ่มบุคคลยื่นอภิปรายได้ก็จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะใช้เวลาในการอภิปรายมากกว่า 4 วัน และนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ย้ำว่า รายชื่อของ 3 ป.มีครบ เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การอภิปรายครั้งนี้

นายสุทิน ระบุว่า ยังไม่ยืนยันว่า จะมีรายชื่อของนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ที่ถูกศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีที่เอกชนฟ้องร้องในสมัยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา หรือ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ.ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลเรื่องการรุกที่ป่าใน จ.ปราจีนบุรี ด้วยหรือไม่

ผู้นำฝ่ายค้านมั่นใจว่าการอภิปรายที่มีการตั้งข้อกล่าวหาเอาไว้ที่จะมีความผิดตามกฎหมายมั่นใจว่า จะสามารถทำให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตทำผิดต่อกฎหมาย และนายกฯจะเป็นผลพวงในส่วนที่เป็นหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแล เป็นเรื่องที่มีความมั่นใจแต่ก็เป็นเอกสิทธิ์เสรีภาพของ ส.ส.ในการตัดสินใจโหวตไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ

ส่วนกรณีที่วุฒิสภาจะยื่นเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 นั้น นพ.ชลน่าน ระบุว่า การอภิปรายดังกล่าวจะเป็นการฟอกขาวรัฐบาลหรือไม่นั้นต้องดูที่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ยื่นได้และให้รัฐมนตรีมาแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน

หากเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายนี้ นับเป็นปัญหาจริงก็ถือเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน แต่หากนอกเหนือจากนี้อาจจะเข้าข่ายเป็นการฟอกขาว เชื่อว่าประชาชนก็จับตามองขณะเดียวกันก็เชื่อว่าวุฒิสภาไม่เห็นด้วยที่จะใช้วิธีดังกล่าวเป็นวิธีฟอกขาวให้รัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง