เช็ก! สาร THC ในกัญชามีพิษต่อสมองเด็ก อาการแบบไหน?

สังคม
10 มิ.ย. 65
17:08
839
Logo Thai PBS
เช็ก! สาร THC ในกัญชามีพิษต่อสมองเด็ก อาการแบบไหน?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถาบันประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ร่วมกับสมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) เตือนสาร THC ในกัญชามีพิษต่อสมองเด็กทั้งระยะเฉียบพลันและระยะยาว ห่วงเปิดกัญชาเสรี อาจมีขนม อาหารที่มีส่วนผสมกัญชาเข้าถึงกลุ่มเด็ก

วันนี้ (10 มิ.ย.2565) สถาบันประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ร่วมกับ สมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ออกข้อมูลคำเตือนเกี่ยวกับกัญชา กับสมองเด็ก โดยสารประกอบในพืชกัญชา THC มีผลกระทบต่อสมองเด็ก สามารถเกิดพิษเฉียบพลัน และส่งผลระยะยาว ทำให้เกิดการเสพติดได้

ดังนั้น จึงห้ามใช้ในเด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 25 ปี ยกเว้นเป็นการใช้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น ผู้ปกครอง และเด็กควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกัญชา เช่น ขนม อาหาร เพราะจะส่งผลให้มีอาการพิษเฉียบพลันได้ และให้สงสัย ถ้าพบอาการ ดังนี้

พิษระยะเฉียบพลัน

ระบบประสาท เวียนศีรษะ แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด ความรู้ตัวลดลง สับสน เดินเซ ชัก กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก อารมณ์แปรปรวน เห็นภาพหลอน

ระบบหัวใจ หน้ามืด วูบหมดสติ ใจสั่น แน่นหน้าอก ชีพจรเต้นผิดจังหวะ เหนื่อย หายใจไม่สะดวก ความดันโลหิตสูง

ระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง

ผลระยะยาว

  • ความคิด ความจำ แย่ลง
  • มึนงง ปวดหัว สมาธิสั้น
  • อ่อนล้า เพลียง่าย ง่วงบ่อย
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • ประสาทหลอน หูแว่ว
  • ซึมเศร้า พฤติกรรมเปลี่ยน
  • การตัดสินใจควบคุมลดลง

ทั้งนี้แนะนำให้ใช้กัญชา ทางการแพทย์ เพื่อการรักษาทางการแพทย์ และเป็นทางเลือก ไม่สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆในเด็กและวัยรุ่น

อ่านข่าวเพิ่ม เช็กปลดล็อก "กัญชา" อะไรทำได้ไม่ได้

เปิดตัวอย่างผลกระทบกัญชากับเด็ก

ข้อมูลระบุว่า ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยกำลังจะเปิดกัญชาเสรี ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชาสามารถจำหน่ายได้อย่างแพร่หลายในท้องตลาด จากเดิมที่มีเฉพาะสารสกัดกัญชาที่ใช้ในทางการแพทย์

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาเหล่านี้จะเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่จะมีการบริโภคสารสกัดกัญชาได้มากขึ้น ทั้งจากการได้รับโดยไม่ตั้งใจจากผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ผสมกัญชาที่ใช้กันในครอบครัว และการใช้เพื่อนันทนาการในกลุ่มวัยรุ่น

จากตัวอย่างในประเทศที่เปิดกัญชาเสรี เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปีพ.ศ.2561 พบว่า เด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี ได้รับกัญชาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ร้อยละ 38 ผ่านทางการกินขนม เช่น คุ้กกี้ ลูกกวาด ผ่านทางการสูดควันบุหรี่ที่ผสมกัญชา และผ่านทางผิวหนังจากน้ำมันกัญชา มีผลทำให้เด็กเกิดอาการทางระบบประสาทร้อยละ 71 และต้องเข้ารักษาในหอผู้ป่วยหนักร้อยละ 18

ล่าสุดปี 2565 ในประเทศแคนาดา พบปัญหาเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปีได้รับกัญชาโดยไม่ตั้งใจและต้องเข้าห้องฉุกเฉิน มีแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่มีผลิตภัณฑ์กัญชาที่กินได้ขายอย่างแพร่หลาย

ในช่วงปี พ.ศ.2563-2564 จึงมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงลักษณะผลิตภัณฑ์กัญชาที่กินได้ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันเด็กได้รับสารกัญชาจากขนม โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

สำหรับกลุ่มวัยรุ่น ในสหรัฐอเมริกาศึกษาในช่วงปีพ.ศ.2548-2561 พบว่า หลังจากเปิดกัญชาเสรีสัดส่วนการใช้กัญชาในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงอายุอื่นๆ โดยในปี2560 พบร้อยละ 6.5 ของวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี (กว่า 1.6 ล้านคน) เคยใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชามาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

วัยรุ่นที่มีการใช้สารกัญชาต่อเนื่องทุกวันเพิ่มมากขึ้นจากปี 2557- 2561 จากร้อยละ 5.9 เป็นร้อยละ 13.2 โดยสัดส่วนในกลุ่มผู้ที่อยู่นอกมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นและอายุที่เริ่มต้นใช้สารสกัดกัญชาอายุน้อยลง3

อ่านข่าวเพิ่ม ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ห่วงเด็ก-วัยรุ่น ได้รับผลกระทบจากกัญชา

"สารแคนนาบินอยด์"ในกัญชาฤทธิ์ต่อสมอง

ในพืชกัญชามีสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) หลายชนิด แบ่งเป็น สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Psychoactive) ที่สำคัญ ได้แก่ THC (Delta-9-/delta-8 tetrahydrocannabinol) และสารไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Non-psychoactive) ที่สำคัญ ได้แก่ Cannabidiols (CBD) ซึ่งในทางการแพทย์มีการใช้ Cannabidiols (CBD) รักษาโรคลมชักชนิดดื้อยากันชักในเด็กอย่างมีประสิทธิผลและมีหลักฐานเชิงประจักษ์

ในประเทศไทย ได้เริ่มมีการใช้ยาสกัดกัญชาชนิดซีบีดีสูง ในการรักษาโรคลมชักดื้อยากันชักในเด็กแล้ว ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาโดยกุมารแพทย์ประสาทวิทยาอย่างใกล้ชิด

สำหรับสาร THC มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์เช่นกัน เช่น ในการรักษาประคับประคองของมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งมีแพทย์ที่รักษาโรคนั้นๆ เป็นผู้ติดตามผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด แต่หากมีการนำสารแคนนาบินอยด์ที่มีการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมาใช้ในส่วนผสมของอาหารหรือการแปรรูปต่างๆ โดยที่เด็กมีโอกาสได้รับสารเหล่านั้นเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ อาจจะมีผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทตามมาได้ ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของสารแคนนาบินอยด์เข้าสู่กระแสเลือด มีความเร็วในการออกฤทธิ์ต่างกัน 

แต่หากมีการนำสารแคนนาบินอยด์ที่มีการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมาใช้ในส่วนผสมของอาหารหรือการแปรรูปต่างๆ โดยที่เด็กมีโอกาสได้รับสารเหล่านั้นเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ อาจจะมีผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทตามมาได้ ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของสารแคนนาบินอยด์เข้าสู่กระแสเลือด มีความเร็วในการออกฤทธิ์ต่างกัน ขึ้นอยู่กับวิธีการได้รับกัญชา

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

10 ข้อควรระวังใช้ผลิตภัณฑ์ "กัญชา"

รอง ผบ.ตร.ชี้ชัดใช้ "กัญชา" แบบไหนยังผิดกฎหมาย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง