รู้จัก "โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม" ที่เป็นต้นเหตุป่วยของจัสติน

สังคม
11 มิ.ย. 65
13:52
3,479
Logo Thai PBS
รู้จัก "โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม" ที่เป็นต้นเหตุป่วยของจัสติน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทำความรู้จัก "รัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม" ที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคงูสวัด ต้นเหตุป่วยของ "จัสติน บีเบอร์" นักร้องดังที่เกิดใบหน้าซีกขวาเป็นอัมพาต

กรณีจัสติน บีเบอร์ นักร้องดังระดับโลก ชาวแคนาดา วัย 28 ปี เปิดเผยอาการป่วยจากโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsay Hunt Syndrome) ที่เกิดจากไวรัส ที่ทำให้ใบหน้าซีกขวาของเขาเป็นอัมพาต

สำหรับโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsay Hunt Syndrome) เป็นโรคซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากงูสวัดโดยตรง เกิดจากการที่เชื้อไวรัสเข้าไปจู่โจมเส้นประสาทสมอง ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดหู การได้ยินลดลง เวียนหัว บ้านหมุน ได้ยินเสียงหึ่ง ๆ เกิดตุ่มน้ำภายในหู เสียการรับรู้รสชาติอาหาร

ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งเบี้ยว จะต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัส และต้องรีบรักษาภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ เพราะการรักษาตั้งแต่แรกๆ จะทำให้ได้รับผลการรักษาที่ดีกว่า 

สอดคล้องกับข้อมูลของ โรงพยาบาลธนบุรี ระบุว่า โรคงูสวัดเป็นโรคผิวหนัง ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (Varicella Zoster Virus – VZV) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดตุ่มพอง เป็นแนวยาว ที่ผิวหนัง ปวดแสบร้อนมาก บริเวณที่ขึ้นกันบ่อย คือ แนวบั้นเอว หรือ แนวชายโครง บางคนอาจขึ้นที่ใบหน้า และจะมีลักษณะการขึ้นคล้ายกันคือ จะขึ้นเพียงซีกหนึ่งซีกใดของร่างกายเท่านั้น

โรคนี้มักไม่มีอันตรายร้ายแรง และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ แต่เชื้อจะหลบซ่อนอยู่บริเวณปมประสาทใต้ผิวหนัง และแฝงตัวอย่างสงบเป็นเวลานานหลายปีถึง 10 ปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ

เมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ เช่น อายุมาก มีความเครียด ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ติดเชื้อ HIV เป็นมะเร็ง ใช้ยาต้านมะเร็งหรือยากดภูมิคุ้มกัน เชื้อที่แฝงอยู่บริเวณปมประสาทก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และกระจายในปมประสาท ทำให้ประสาทอักเสบ มีอาการปวด มีตุ่มใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท Hepes Varicella Zoster เป็นชนิดเดียวกันกับเชื้อที่ทำให้เกิดโรค ไข้สุกใส ซึ่งผู้ป่วยจะมีประวัติเป็นไข้สุกใสในวัยเด็ก หรือ เคยมีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มาก่อน โดยไม่มีอาการแสดง ซึ่งสามารถตรวจพบสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ในเลือด 

อาการ

  • จะมีอาการปวดแปลบๆ อาจมีอาการคันและแสบ ร้อน ก่อนมีผื่น 1-3 วัน
  • ครั่นเนื้อ ครั่นตัว ปวดศีรษะและมักมีไข้ต่ำๆ
  • ตุ่มน้ำใสๆ จะทยอยขึ้นใน 4 วันแรกแล้วจะตกสะเก็ดใน 7-10 วัน
  • ในบางรายที่มีตุ่มขึ้นที่ใบหน้า อาจมองแสงจ้าไม่ได้ ตามแนวเส้นประสาทสมองที่ 5 อาจจะทำให้เกิดตาบอด (Zoster ophthalmicux) และเส้นประสาทสมองที่ 7 ทำให้มีอาการปากเบี้ยวครึ่งซีกเรียก Ramsay Hunt syndrome
  • อาจมีอาการ อาเจียน คอแข็ง หรือ ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ
  • ในหญิงตั้งครรภ์ อาจแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความผิดปกติในทารกได้
ภาพ:ไอจี justinbieber

ภาพ:ไอจี justinbieber

ภาพ:ไอจี justinbieber

ปัจจัยเสี่ยง

  • เคยเป็นโรคไข้สุกใสมาก่อน
  • อายุมากผู้สูงอายุอาจมีอาการปวดรุนแรงและเรื้อรัง
  • เป็นโรคภูมิต้านทานบกพร่อง หรือ กลุ่มคนที่ทานยา Steroid

การป้องกัน

โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สุกใส ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ ซึ่งฉีดเพียง 1 เข็ม สามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต ถ้าฉีดตอนอายุมากกว่า 13 ปี ควรฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4-8 สัปดาห์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"จัสติน บีเวอร์" ป่วยอัมพาตใบหน้าจากไวรัส เลื่อนคอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์

หมอแนะพบอาการอัมพาตใบหน้าต้องรีบพบแพทย์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคเส้นประสาทใบหน้าหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบ หรือเบลล์พัลซี ( Bell’s palsy ) คือภาวะที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเกิดอัมพาตชั่วขณะ สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ สาเหตุมาจากเส้นประสาทบนใบหน้าที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้าเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก มักจะเป็นข้างใดข้างหนึ่ง หลับตาไม่สนิท มุมปากขยับได้ลดลง ดูดน้ำจากหลอดไม่ได้ มีน้ำรั่วที่มุมปาก หรือมีอาการเลิกคิ้วไม่ได้ การรับรสที่ปลายลิ้นผิดปกติ น้ำลายแห้ง น้ำตาแห้ง การได้ยินของหูข้างที่มีอาการลดลง หรือได้ยินเสียงก้อง มีอาการปวดบริเวณหลังใบหูร่วม

บางรายเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคอีสุกอีไส เชื้อเริม งูสวัด ที่แฝงอยู่ในปมประสาท หากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลงจะทำให้เกิดโรคนี้ได้ ถือเป็นปัญหาสุขภาพ ที่เกิดขึ้นทันที และมักจะเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง

 

 

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเป็นโรคที่สามารถค่อยๆฟื้นตัวและดีขึ้นเองได้ โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ การตรวจร่างกายเป็นสำคัญ ร่วมกับการตรวจการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ การรักษาโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก คือ รักษาตามสาเหตุที่ทำให้โรค เช่น ให้ยาฆ่าเชื้อไวรัสกรณีที่มีการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเริม หรืองูสวัดร่วมด้วย

การให้ยาสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการอักเสบในรายที่ไม่มีการติดเชื้อ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดใบหน้า เช่น การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้า หรือนวดใบหน้า ช่วยลดภาวะกล้ามเนื้อตึงเกร็ง และการผ่าตัดในผู้ป่วยบางราย

ในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรปิดตาข้างที่มีอาการ หรือใส่แว่นกันแดด ร่วมกับใช้น้ำตาเทียม และปิดตาเวลานอนเพื่อลดอาการเคืองตา ตาแดง หรือมีแผลที่แก้วตา เมื่อผู้ป่วยมีอาการใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ เพราะผลของการรักษาจะได้ผลดีถ้าได้เริ่มรักษาได้เร็ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง