ม.ศิลปากร โชว์ผลงาน "ศิลปะฝาท่อ" ชูอัตลักษณ์เยาวราช-เจริญกรุง

ศิลปะ-บันเทิง
15 มิ.ย. 65
13:14
530
Logo Thai PBS
ม.ศิลปากร โชว์ผลงาน "ศิลปะฝาท่อ" ชูอัตลักษณ์เยาวราช-เจริญกรุง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร โชว์ผลงาน “ศิลปะบนฝาท่อสาธารณูปโภค” กำหนดวางบน 9 จุดสำคัญในย่านเยาวราช-เจริญกรุง เชื่อมโยงประวัติศาสตร์และส่งเสริมทัศนียภาพสุนทรีย์เมืองเก่า

วันนี้ (15 มิ.ย.2565) รศ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล อาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า หลังจากโครงการวิจัย “การออกแบบประติมากรรมบนที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชน” ประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม ศิลปะกราฟิตี้ รั้วกั้นทางเดินริมน้ำ และฝาท่อระบายน้ำ

โดยกองจัดรูปที่ดินและปรับปรุงฟื้นฟูเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้นำผลการวิจัยดังกล่าวไปใช้ และเป็นแนวทางการออกแบบเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่าง และโครงการศิลปะชุมชนกิจกรรมแต้มสี กรุงเทพฯ ปี 2561 นั้น

ล่าสุดนักวิจัย ร่วมกันออกแบบฝาท่อสาธารณูปโภค ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมย่านเยาวราช” ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

โดยเริ่มต้นจากการสำรวจพื้นที่ในย่านเยาวราช-เจริญกรุง เพื่อหาความเป็นไปได้ที่จะใช้งานศิลปะและการออกแบบเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในย่านชุมชนที่นำไปสู่การสร้างหมุดหมายบนแผนที่ทางวัฒนธรรม

 

ผลลัพธ์ของการสำรวจพื้นที่และการทำงานร่วมกับนักวิจัยด้านประวัติศาสตร์ รศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ข้อสรุป เป็นตำแหน่งที่เหมาะสมจะพัฒนาให้เกิดฝาท่อ ที่มีความเป็นศิลปะ โดยการออกแบบสื่อถึงโบราณสถาน อาคาร ร้านค้า สถานที่อันเป็นที่มาของชื่อย่าน และสาธารณูปโภคที่มีขึ้นครั้งแรกของกรุงเทพมหานคร รวมถึงอัตลักษณ์ด้านการค้าของย่านเยาวราช

ในการออกแบบได้สร้างภาพที่มีลักษณะกราฟิก เพื่อให้ผู้ชมจดจำได้ง่าย คำนึงว่าต้องสื่อถึงที่มาได้โดยตรง และเชื่อมโยงไปสู่ความหมายและคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ฝาท่อที่ออกแบบมาชุดนี้ เช่น วัดมังกรกมลาวาส ห้างทองเยาวราช การประปา และรถรางสายแรกบนถนนเจริญกรุง ซึ่งการวางตำแหน่งฝาท่อครั้งนี้กำหนด 19 จุดสำคัญในย่านเยาวราช-เจริญกรุง เชื่อมโยงไปสู่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของจุดต่าง ๆ โดยโครงการวิจัยได้จัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ไว้

 

นอกจากนี้ ยังเพิ่มตัวอักษรระบุตำแหน่งฝาท่อ 3 ภาษา ได้แก่ ไทย จีน และอังกฤษ ส่วนด้านการผลิตโครงการวิจัยได้ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการโรงงานหล่อเหล็กมาร่วมพัฒนาฝาท่อให้ได้คุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้ต่ำกว่าการดำเนินการครั้งก่อน

ทั้งนี้ เป็นการสร้างสรรค์ศิลปะ ภายใต้แนวคิด Creative Cultural City ให้ได้ฝาท่อประปาที่สวยงาม ทัศนียภาพในเมืองน่ามอง และยังประกอบเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ทางวัฒนธรรมที่ช่วยแสดงอัตลักษณ์ของชุมชนให้ชัดยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง