"ชัชชาติ" ลงพื้นที่ติดตามการบริหารศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช

สังคม
17 มิ.ย. 65
17:46
501
Logo Thai PBS
"ชัชชาติ" ลงพื้นที่ติดตามการบริหารศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ชัชชาติ" พร้อมทีมรองผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานศูนย์ฯ อ่อนนุช พร้อมตรวจสอบและแก้ไขปัญหากลิ่นที่ส่งผลต่อชุมชนใกล้เคียง

วันนี้ (17 มิ.ย.65) เวลา 13.00 น.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตัน/วัน ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ พร้อมทั้งติดตามการปรับปรุงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยภายในโรงงาน และลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหากลิ่นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยโดยรอบและชุมชนใกล้เคียง

โดยมี นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายธนวัฒน์ เชิดชูกิจกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตประเวศ นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตประเวศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูล

กรุงเทพมหานคร ได้ลงนามสัญญาจ้างให้บริษัทลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) ที่ขนาด 800ตัน/วัน ในพื้นที่ 20 ไร่ ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2560 เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยได้ดำเนินการก่อสร้างพร้อมติดตั้งเครื่องจักร และเริ่มเดินระบบกำจัดเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2563 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 2 ปี 3 เดือน

 

ศูนย์ดังกล่าวบริหารจัดการโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (วิสาหกิจ กทม) เพื่อเป็นโครงการต้นแบบและนำร่องการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนแบบบูรณาการ ด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) ลดพื้นที่ฝังกลบและเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยมีผลพลอยได้ คือ ขยะเชื้อเพลิงและขยะรีไซเคิล โดยจะเหลือกากของเสียที่ต้องนำไปกำจัดน้อยที่สุด

กระบวนการกำจัดมูลฝอยชุมชนด้วยเทคโนโลยี MBT จะนำขยะชุมชน 800 ตัน/วัน เข้าสู่กระบวนการคัดแยกเบื้องต้น กระบวนการเตรียมหมักและบีบอัด กระบวนการผลิตก๊าซ กระบวนการผลิตไฟฟ้า

 

สำหรับพื้นที่ภายในโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงาน ขนาด 800 ตัน ประกอบด้วย 1.อาคารรับขยะ 2.อาคารคัดแยกเบื้องต้น 3.ระบบบำบัดกลิ่น 4.ถังเตรียมหมัก 5.เครื่องบีบอัด 6.อาคารระบบบำบัดน้ำเสีย 7.ระบบผลิตก๊าช 8.ระบบปรับสภาพก๊าช 9.พื้นที่ถังเก็บก๊าซ 10.อาคารระบบผลิตไฟฟ้า 11.อาคารสำนักงาน และ 12.อาคารชั่งน้ำหนัก

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานที่ผ่านมาบริษัทฯได้พบปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการขนถ่ายมูลฝอยชุมชน บ่อรับขยะ องค์ประกอบมูลฝอยชุมชน การจัดการขยะเชื้อเพลิงทำให้ต้องปรับปรุงเครื่องจักรและอาคาร เพื่อลดกลิ่นที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงและบริเวณโดยรอบโรงงาน

 

นอกจากนี้ ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2564 สมาชิกชุมชนหมู่บ้านอิมพีเรียลพาร์ค ได้มาเยี่ยมชมโรงงานและเสนอข้อเรียกร้องกับบริษัทกรุงเทพธนาคม โดยบริษัทฯ มีการกำหนดแผน และมาตรการจัดการ ดังนี้

ตรวจสอบหาแหล่งที่มาของกลิ่น กำหนดแผนงานและมาตรการเข้มข้น ตั้งทีมประสานงานร่วมกับตัวแทนหมู่บ้านฯ แผนงานระยะสั้น 30 วัน ได้แก่

1.ติดตั้งระบบสเปรย์ดับกลิ่นอัตโนมัติบริเวณอาคารรับขยะ 2.ติดตั้งผนังและประตูบริเวณอาคารรับขยะให้เป็นระบบปิด 3.ติดตั้งระบบสเปรย์ดับกลิ่นอัตโนมัติบริเวณอาคารเก็บขยะเชื้อเพลิง 4.ติดตั้งผนังและประตู อาคารเก็บขยะเชื้อเพลิง ให้เป็นระบบปิด 5.ดำเนินการจัดการขยะและกากตะกอน โดยไม่ให้มีการตกค้าง แล้วเสร็จ 100 % แผนงานระยะยาว 120 - 180 วัน ได้แก่

1.ปรับปรุงอาคารรับขยะและอาคารเก็บขยะเชื้อเพลิงเพิ่มเติม 2.ปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่นภายในอาคาร แล้วเสร็จ 70 % พร้อมทั้งการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของกรมควบคุมมลพิษ ระบบบำบัดกลิ่น โดยปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่นเรียบร้อยแล้ว คงเหลือการทดสอบประสิทธิภาพ จะแล้วเสร็จปลายเดือน ก.ค.2565

 

ส่วนระบบการจัดการได้ปรับปรุงอาคาร ผนังและประตูปิดคลุมให้มิดชิดเรียบร้อยแล้ว และเพิ่มเจ้าหน้าที่ควบคุมการเปิด-ปิดประตูทุกจุดที่มีการเคลื่อนย้าย ระบบลำรางระบายน้ำ ปัจจุบันได้ทำความสะอาดรางระบายน้ำ พร้อมทำแผนและมาตรการตรวจสอบให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด

 

ด้านระบบบำบัดน้ำเสีย ปัจจุบันได้ทำแผนการตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสีย การปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกอบกิจการโรงงาน ส่วนการดำเนินงานปรับปรุงโครงการ ได้ปรับปรุงอาคารรับขยะให้เป็นอาคารปิดมิดชิด แล้วเสร็จ 100% ปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่น ยังคงเหลือทดสอบประสิทธิภาพระบบ แล้วเสร็จ 70% ปรับปรุงอาคารเก็บเชื้อเพลิงให้เป็นอาคารปิดมิดชิด แล้วเสร็จ 100%

ขอให้ทุกคนใจเย็นๆ เราต้องมาคุยกันอีกที เจ้าหน้าที่ทุกคนช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ในวันนี้เวลากระชั้นชิด ต้องกลับไปดูรายละเอียดเชิงลึกในการแก้ไขปัญหา แล้วจะกลับมาใหม่ เรื่องนี้จะหลอกกันไม่ได้ เพราะกลิ่นที่ออกมาทุกคนรับรู้เหมือนกันหมด

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวภายหลังการพื้นที่ กล่าวว่า หลายหน่วยงานได้มาช่วยกันตรวจสอบหาแนวทางในการแก้ไขและข้อเสนอแนะต่างๆ ประเด็นสำคัญคือต้องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ลดปัญหากลิ่นที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังการพื้นที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง