ผู้ว่าฯ กทม.สัญจร ครั้งแรก "เขตคลองเตย" เล็งใช้เป็นโมเดลแก้ปัญหา

สังคม
19 มิ.ย. 65
11:32
272
Logo Thai PBS
ผู้ว่าฯ กทม.สัญจร ครั้งแรก "เขตคลองเตย" เล็งใช้เป็นโมเดลแก้ปัญหา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ว่าฯ กทม.สัญจร ทางการครั้งแรกลงพื้นที่หารือผู้บริหารเขตคลองเตย รับฟังปัญหา - เสียงสะท้อน พร้อมใช้เขตคลองเตยเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาให้เขตอื่น ๆ พร้อมย้ำ 3 เรื่องสำคัญ ไม่ทุจริต-เน้นประสิทธิภาพ-ทำงานเพื่อประชาชน

วันนี้ (19 มิ.ย.2565) เช้านี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.ลงพื้นที่เขตคลองเตย โดยระหว่างที่เดินมาถึงบริเวณสี่แยก ณ ระนอง มีประชาชนร้องเรียนว่า ไม่มีทางม้าลายสำหรับข้ามถนน เนื่องจากจุดที่เป็นทางม้าลายเดิมถูกงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าปิดทับ โดยนายชัชชาติ และ นายวิศณุ รับปากว่าจะให้สำนักงานเขตมาแก้ปัญหาให้

 

จากนั้นได้เดินทางมาที่สำนักงานเขตคลองเตย โดยมี น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ อีกคน มาติดตามสถานการณ์ด้วย ขณะที่ ในภารกิจ "ผู้ว่าฯ สัญจร" ซึ่งจะเยือนไปยังเขตต่าง ๆ ทั้ง 50 เขต ในกรุงเทพฯ

 

วันนี้ นับเป็นครั้งแรกของการลงพื้นที่สัญจร มาที่เขตคลองเตย รวมถึงร่วมประชุมกับฝ่ายบริหารของเขต และฝ่ายเกี่ยวข้อง วันนี้ ของการเตรียมยืนยันหัวใจสำคัญ คือ มีความหลากหลายของประเด็นเชิงพื้นที่

 

ภาพรวมขณะนี้ มีผู้แจ้งปัญหาผ่านแอปร้องเรียนที่นายชัชชาติ เปิดขึ้นมา ที่เรียกว่า ระบบ "Traffy Fondue " แล้วกว่า 30,000 เรื่อง โดยเฉพาะสำนักงานเขตคลองเตย มีผู้ร้องเรียนกว่า 900 เรื่อง ทางเขตรับเรื่องแล้ว​กว่า 600 เรื่อง แก้ไขแล้วเสร็จ 142 เรื่อง

 

ทั้งนี้ หากสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในเขตคลองเตยได้ ก็จะเป็นโมเดล ของการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในเขตอื่น ๆ อีก 49 เขตของกรุงเทพฯ ได้ด้วย 

สำหรับการประชุม นายชัชชาติ สั่งเน้นย้ำ 3 เรื่องสำคัญ คือต้อง 1 ไม่ทุจริตคอรัปชัน 2.เน้นประสิทธิภาพให้บริการ และ 3.ต้องทำงานเพื่อประชาชน โดยต้องหันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน รวมถึงหากพบใครอ้างชื่อทีมงานอาจารย์ชัชชาติ สามารถแจ้งตำรวจได้เลย

นายชัชชาติ กล่าวภายหลังเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้บริหารจัดการขยะครบวงจร เขตคลองเตย ว่า วันนี้เป็นครั้งแรกของตรวจเยี่ยมการทำงานของสำนักงานเขตในรูปแบบการสัญจร ตั้งใจมาเยี่ยมผู้ร่วมงานว่ามีความเป็นอยู่เป็นอย่างไร เขตมีปัญหาอะไร ต้องการความช่วยเหลืออะไร ยุทธศาสตร์ของเขตติดปัญหาอะไร ต้องการให้ผู้ว่าฯ สนับสนุนด้านไหนบ้าง

ซึ่งตนจะสัญจรทุกวันอาทิตย์ โดยเริ่มต้นตั้งแต่เช้า หากมีเวลาจะไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะก่อน พูดคุยกันคนในสวน ปลูกต้นไม้ ดูกิจกรรมต่าง ๆ ดูปัญหาในพื้นที่

จากนั้นจะเข้ามาที่สำนักงานเขต เพื่อหารือเรื่องปัญหาเร่งด่วน อาทิ การจราจร รถติด น้ำท่วม ขยะ ชุมชน ปัญหาที่ประชาชนร้องเรียน และเรื่องต่างๆ ที่ค้างอยู่ จากนั้นช่วงบ่ายจะลงพื้นที่ชุมชนจุดที่มีปัญหา

ที่สัญจรวันอาทิตย์เพราะไม่อยากรบกวนเวลาในวันปกติ ข้าราชการต้องบริการประชาชน และในวันอาทิตย์เวลาลงชุมชนประชาชนจะอยู่บ้าน หากลงพื้นที่วันธรรมดา ประชาชนไม่อยู่บ้าน ต้องไปทำงาน ก็จะไม่เจอใคร

เขตคลองเตยรวมปัญหาหลาย ๆ เรื่องเข้าด้วยกัน เรามีชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุด ใน กทม. มีปัญหาขยะจากตลาดคลองเตย น้ำเสียคลองหัวลำโพง รถติดหน้าตลาด ห้าแยก ณ ระนอง ปัญหาคุณภาพโรงเรียนซึ่งอยู่ในชุมชนแออัด ปัญหากรุงเทพมันเยอะแต่มันซ้ำกัน ถ้าทำให้สำเร็จหนึ่งเรื่อง จะขยายไปที่เขตอื่นได้

คลองเตยเป็นต้นแบบ ถ้าเราทำคลองเตยให้สำเร็จ เอารูปแบบไปขยายผลที่อื่นได้ สามารถทำชุมชนแออัดให้ดี ชีวิตดี ลานกีฬามีคุณภาพ น้ำเสียขยะในตลาดทำให้ดี ลดการก่อสร้างทำให้มีความรวดเร็วมากขึ้น สุดท้ายนำไปขยายผลได้ จริงๆ

สำหรับการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน Taffy Fondue ขณะนี้มีประชาชนแจ้งมาประมาณ 20,000 กว่าเรื่อง แก้ไขไปได้ 3,000 กว่าเรื่อง ใน 20,000 มีบางเรื่องที่กทม. ทำโดยตรงไม่ได้เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น โดยเรื่องที่กทม. รับผิดชอบโดยตรงต้องรีบทำ อันไหนไม่ใช่ต้องรีบประสานหน่วยงาน ในส่วนของเขตคลองเตยประชาชนแจ้งมา 900 กว่าเรื่อง รับไปแล้ว 600 กว่าเรื่อง แก้ไขเสร็จ 142 เรื่อง

สำหรับปัญหาเรื่องใหม่ที่เจอเป็นเรื่องเด็กเช็ดกระจก ขายของสี่แยก ซึ่งสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น จะเห็นเด็ก ๆ น้อง ๆ เยาวชน มาขายพวงมาลัยดอกไม้ มาเช็ดกระจกริมถนน ซึ่งได้รับการร้องเรียนมาค่อนข้างมากที่บริเวณแยกอโศก แยกคลองเตย

ต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกัน ทั้งตำรวจ กทม. พม. คือเราไปจับเขาก็หนี จึงต้องมีระบบที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะสะท้อนปัญหาอื่น ๆ ด้วย เช่น ปัญหาคนไร้บ้าน ปัญหาเด็ก ซึ่งมีต้นตอมาจากปัญหาเศรษฐกิจ จึงต้องแก้ปัญหาที่ภาพรวม

ห้ามบอกว่า เราไม่เกี่ยวข้อง ต้องบอกว่าเราจะเร่งประสานงานหน่วยงานอื่นให้ กทม. ต้องเกี่ยวข้องทุกเรื่อง ขอให้ประชาชนใจเย็น ๆ เราพยายามทำให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นรูปแบบที่เพิ่งเริ่มได้อาทิตย์เดียว แต่หวังว่าจะตอบโจทย์พวกเราได้ดีขึ้น

นายชัชชาติกล่าวด้วยว่า ได้เน้นย้ำแนวปฏิบัติให้กับข้าราชการ โดยเน้นความโปร่งใส ประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน ดูแลประชาชนโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people centric) หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน โดยผู้ว่าฯ จะคอยเป็น Back up สนับสนุนทุกเรื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง