บทวิเคราะห์ : ยุทธการ “เด็ดหัวสอยนั่งร้าน”

การเมือง
20 มิ.ย. 65
19:48
249
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ยุทธการ “เด็ดหัวสอยนั่งร้าน”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เป้าหมายของฝ่ายค้านในยุทธการ “เด็ดหัวสอยนั่งร้าน” ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 1+9 คน เป้าหมายจริง ๆ ไม่ได้หวังจะน็อกรัฐบาลคาสภาผู้แทนฯ เพราะจำนวนเสียงสนับสนุนของ 2 ฝ่าย ห่างกันร่วม 60 เสียง

เห็นได้ชัดในชั้นรับหลักการ วาระที่ 1 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2566 เสียงรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ก็ทิ้งห่างกันขาด ด้วยเสียง 278 ต่อ 194 เสียง

แต่เป้าหมายหลักจะอยู่ที่ 1.เปิดเวทีวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยใช้สภาเป็นเวที โดยไม่ต้องลงทุนตั้งเวทีหรืออภิปรายนอกสภา ให้สิ้นเปลืองเงินและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แถมยังมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางต่างๆ ไปยังประชาชนได้

2.หวังเปิดแผลรัฐบาล สาวไส้ เอาเรื่องความผิดพลาดบกพร่องในการบริหารราชการของรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ออกมากล่าวหาหรือประจานเพื่อหวังดิสเครดิต ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า ด้วยวิธีค่อย ๆ ทุบ ค่อย ๆ ฟาดให้น่วมไปเรื่อย ๆ จนเกิดมรรคผลในที่สุด

และ 3.เป้าหมายหลักเฉพาะหน้า คือหวังให้เกิดความระส่ำและระแวงกันเองในฝ่ายรัฐบาล เพราะการจองกฐินนายกฯ และรัฐมนตรีรวมกันถึง 11 คนนั้น จะสอดคล้องกับชื่อยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน”

เป้าหมายหลักอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอีก 2 ป. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ถือเป็นหัวขบวนหลัก ที่เหลือเป็นรัฐมนตรีที่ถูกเปรียบเทียบเป็นนั่งร้าน คอยค้ำยันให้รัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐ ทั้งหมดล้วนเป็นคนใกล้ชิดและเป็นคนที่พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร มักเรียกใช้งาน และอยู่ในกลุ่มที่ไว้เนื้อเชื่อใจทั้งสิ้น

ทั้ง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมต.หน้าใหม่ ที่จะถูกจับขึ้นเขียงครั้งแรก อันจะเป็นด่านหิน สำหรับการพิสูจน์การเป็นเลขาธิการพรรคใหญ่พรรคแกนนำตั้งรัฐบาล

และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีแรงงาน คนที่เป็นข่าวและเคลื่อนไหวมากที่สุดขณะนี้ นอกจากเรียกร้องให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนฯ ตรวจสอบการลงชื่อสนับสนุนญัตติของ ส.ส.ว่าถูกต้องหรือไม่ หรือเป็นญัตติเถื่อนแล้ว นายสุชาติ ยังมีภาพจำ ของการเป็นรัฐมนตรีที่ได้คะแนนโหวตไว้วางใจ ในเดือนกันยายน 2564 น้อยที่สุดด้วย

ยังไม่นับเรื่องความขัดแย้งกับกลุ่มบ้านใหญ่ชลบุรี เพราะอาจมีรายการ “เอาคืน” หรือ “ถอนแค้น” เกิดขึ้นได้ หลังจากก่อนหน้านี้ มีข้อหา “หมั่นไส้” จากการเป็นโต้โผ จัดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรีด้วยตัวเอง แทนที่จะเป็นคนในบ้านใหญ่ชลบุรี

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งนี้ไม่มีรายชื่อ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคและรัฐมนตรีเกษตรฯ ซึ่งเดิมทีถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนของ ปชป. เพราะพูดไม่เก่งเหมือนรัฐมนตรีคนอื่น ๆ แต่การโหวตเสียงในญัตติซักฟอก เมื่อเดือนกันยายน 2564 กลับมีคะแนนไว้วางใจสูงที่สุด ในกลุ่มรัฐมนตรีที่โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยกัน

แต่ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ชนิดงงกันทั้งบาง คือนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม.

นายจุติเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่มีคลื่นใต้น้ำในพรรค กดดันให้สละเก้าอี้ให้ผู้สนับสนุนพรรคคนอื่น ๆ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังนั่งอยู่ในตำแหน่งดังเดิม จึงถูกมองว่า อาจเป็นการส่งชื่อ “ล่อเป้า” สำหรับส.ส.กลุ่มคลื่นใต้น้ำของ ปชป.

เท่ากับยุทธการของพรรคฝ่ายค้านครั้งนี้ หวังผลให้เกิดความระแวงเกิดขึ้นในพรรคที่สังกัดและพรรคร่วมรัฐบาล หลังนายพิเชษฐ์ สถิรชวาล แกนนำกลุ่ม 16 จากกลุ่มพรรคเล็ก ประกาศว่า สมาชิกในกลุ่มจะโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่จะไม่โหวตให้รัฐมนตรี 4 คน

แม้อาจเป็นเพียงคำขู่ เพราะเป้าหมายจริง น่าจะหวังให้การเจรจาต่อรองทางการเมืองเกิดขึ้น แต่ความจริงประการหนึ่ง คือ ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนอยากกินบ๊วยหรืออมบ๊วย ดังนั้น ศึกอภิปรายหนนี้ อาจเป็นช่วงเวลาทองของการขนกล้วย และแจกกล้วยอีกครั้งก็เป็นได้

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงยังน่าสนใจต้องติดตามอยู่เช่นเคย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง