"กระจกตา" ไม่ต้องรอบริจาค ความหวังของคนโลกมืด ลุ้นได้ใช้รายแรกของโลก

Logo Thai PBS
"กระจกตา" ไม่ต้องรอบริจาค ความหวังของคนโลกมืด ลุ้นได้ใช้รายแรกของโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์" จากนักวิจัยไบโอเทคสู่ซีอีโอป้ายแดง กับการพัฒนา "กระจกตาชีวภาพ" แบบใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผู้บริจาค ออกแบบให้เหมาะกับค่าสายตาคนไข้ได้ ความหวังของคนโลกมืด ลุ้นผลิตให้คนไทยได้ใช้เป็นรายแรกของโลก
ถ้าวันหนึ่งคุณตื่นมาแล้วตัวเองมองไม่เห็นอะไรเลย คงจะรู้สึกตกใจมาก และมีคนทั่วโลกประมาณ 10 ล้านคน กำลังเผชิญกับเหตุการณ์นี้เพราะกระจกตาขุ่น เรากำลังพัฒนากระจกตาชีวภาพ เพื่อแก้ปัญหาการรอกระจกตาบริจาค เพื่อให้คนไทยได้กลับมามองเห็นอีกครั้ง

คำพูดจาก "ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์" ซีอีโอบริษัท รีไลฟ์ จำกัด ในงานแถลงข่าว "นาสท์ด้า สตาร์ตอัป" NSTDA Startup ของ สวทช.ที่ได้เปิดตัว 9 ผลงานซึ่งได้รับการอนุมัติจาก สวทช.ในการส่งผ่านงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบธุรกิจใหม่ กลายเป็นจุดสนใจให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ ติดตามไปพูดคุยกับซีอีโอป้ายแดงคนนี้ ถึงจุดเริ่มต้นงานวิจัย ไปจนถึงความก้าวหน้าล่าสุด ก่อนที่นวัตกรรม "กระจกตาชีวภาพ" จะกลายมาเป็นความหวังใหม่ของวงการแพทย์ไทยในอนาคต

ทำไมถึงเริ่มต้นวิจัยและพัฒนากระจกตาชีวภาพ 

ดร.ข้าว : ผมเป็นนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โดยได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ช่วงที่เรียนปริญญาเอก เพราะเห็นช่องว่างทางการตลาด และช่องว่างในการศึกษา ราวกับว่ากระจกตากลายเป็นเรื่องที่ถูกคนมองข้าม 

ทั่วโลกมีคนรอเปลี่ยนกระจกตากว่า 10 ล้านคน แต่มีคนโชคดีได้เปลี่ยนเพียง 15% เหลืออีก 85% ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก คนไข้ในไทยบางคนต้องรอกระจกตานาน 2-3 ปี

วิธีเดียวที่จะรักษากระจกตาได้ คือ การเปลี่ยนกระจกตา แต่เมื่อเกิดข้อจำกัดขึ้น ทำให้เรามีแนวคิดที่จะพัฒนากระจกตาชีวภาพ ให้เหมือนกระจกตาทั้งความใส และความโค้ง เมื่อใส่ สเต็มเซลล์ (Stem Cell) เข้าไป จะสามารถทำงานได้เหมือนกระจกตาจริง ๆ และช่วยให้คนไข้ได้รับกระจกตาเร็วขึ้น 


กระจกตาชีวภาพทำมาจากวัสดุอะไร

ดร.ข้าว : ผมออกแบบวัสดุเลี้ยงเซลล์ มีรูปร่าง หน้าตาทำงานเหมือนกระจกตา เมื่อใส่เซลล์เข้าไป มันจะทำหน้าที่ปกป้องเซลล์ และไกด์ไลน์เซลล์ เปลี่ยนวัสดุให้กลายเป็นกระจกตาชิ้นใหม่ เหมือนกับกระจกตาตอนที่เราเกิดใหม่เลย ทางเทคนิคเรียกว่า "ไฮโดรเจล" หรือชื่อเล่น "เจลลี่" โดยใช้เทคโนโลยีพิเศษเพื่อสร้างเส้นใยขนาดเล็ก คล้าย ๆ คอลลาเจน สานเป็นตาข่ายให้อยู่ในเจลลี่ ซึ่งมีกลไกเหมือนกระจกตาจริง ๆ

เมื่อใส่ตัวกระจกตาชีวภาพในคนไข้ ตัวสเต็มเซลล์จะค่อย ๆ กินกระจกตา แล้วกระตุ้นให้สเต็มเซลล์สร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ใช้ได้ตลอดชีวิต

คุณสมบัติ - จุดเด่น กระจกตาชีวภาพ

ดร.ข้าว : เราจะทำให้ระยะเวลาในการรอกระจกตาบริจาคลดลง ตั้งใจว่า ไม่ให้เกิน 1 สัปดาห์ คนไข้ต้องได้เปลี่ยนกระจกตาใหม่ อีกส่วนคือ เราสามารถควบคุมค่าสายตาให้เหมาะสมกับความต้องการของคนไข้แต่ละคนที่กระจกตาบริจาคทั่วไปทำไม่ได้ 

นอกจากกระจกตาบริจาคจะมีน้อยแล้ว ปัญหาอีกอย่างที่พบ คือ กระจกตามีอายุการใช้งานที่สั้นมาก ๆ ไม่ถึง 1 สัปดาห์ก็ใช้งานไม่ได้แล้ว แต่กระบวนการเมื่อคนไข้เสียชีวิต กว่าจะมาถึงคนรับบริจาคใช้เวลานานก็อาจเสียหายก่อนได้ 

อีกกรณี คือ คนไข้อายุ 30 ปี ต้องเปลี่ยนกระจกตา แต่คนไข้ที่บริจาคกระจกตาอายุ 60 - 70 ปี แน่นอนว่า กระจกตาเสื่อมตามวัย เราอายุ 30 ปี แต่ได้กระจกตาอายุ 60 ปี มันก็ไม่เฟรช นี่คือข้อจำกัดที่เราอยากแก้ให้ตรงจุด


กระจกตาชีวภาพ เหมาะกับทุกคนที่ต้องเปลี่ยนกระจกตา ให้ใช้ทดแทนกระจกตาจริง ๆ ซึ่งผู้ที่ต้องเปลี่ยนกระจกตานั้น เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการได้รับบาดเจ็บ เกิดการกระแทก ถูกบาด หรือติดเชื้อจากการทำความสะอาดไม่ถูกต้องก็อาจทำให้กระจกตาขุ่นได้ เช่นเดียวกับโรคทางกรรมพันธุ์ หรือโรคจากพฤติกรรม เช่น การใช้โทรศัพท์หรือจ้องหน้าจอที่มีแสงเยอะ พฤติกรรมนี้ทำให้เกิดโรคสมัยใหม่ คือ กระจกตาโก่ง หรือ กระจกตาบางได้

ในสหรัฐฯ 50 คน เจอ 1 คน เมื่อเรามีค่าสายตาเอียง อาจบ่งบอกว่ากระจกตาเรามีปัญหา หากเราเอียงมาก ๆ มันอาจจะเป็นกระจกตาบาง และถึงจุดหนึ่งอาจต้องเปลี่ยนกระจกตา ดังนั้น โรคเกี่ยวกับกระจกตาไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น เด็กก็เป็นได้

ความคืบหน้าล่าสุด การวิจัยกระจกตาชีวภาพ

ดร.ข้าว : เราวิจัยมานาน 10 ปี อยู่ในจุดที่มีผลการทดลองที่ดีในห้องปฏิบัติการ และเข้าสู่ขั้นการทดลองในสัตว์ทดลองแล้ว ด้วยความร่วมมือกับทีมคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลังเสร็จสิ้นเฟสนี้ จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การทดลองในมนุษย์เฟสแรก จึงต้องตั้งบริษัทขึ้นมา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเตรียมยื่นจดทะเบียน เพื่อสร้างโรงงานการผลิตกระจกตาชีวภาพที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับการทดลองกับคนไข้

ต้องทำโรงงานที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตายของคน กว่าจะไปถึงจุดที่มั่นใจว่าจะใส่ให้คนไข้ ต้องผ่านการทดสอบทั้ง อย. และ FDA สหรัฐฯ ด้วย และเมื่อวันนั้นที่ได้ใช้กับคนไข้ รับประกันว่าปลอดภัย 

หากทำสำเร็จ คนไทยจะเข้าถึงได้มากน้อยแค่ไหน

ดร.ข้าว : ขณะนี้ ค่าใช้จ่ายเปลี่ยนกระจกตา สปสช.มีงบฯ ให้ประมาณ 50,000 บาทต่อ 1 ดวงตา ซึ่งความท้าทายของการเปลี่ยนกระจกตา จริง ๆ ไม่ใช่ในขั้นตอนการผ่าตัด เพราะทีมแพทย์มีประสิทธิภาพในการผ่าตัดปลอดภัยแทบจะ 100% แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ การรอกระจกตาบริจาค

เมื่อเปลี่ยนกระจกตาชีวภาพ ก็จะกลับมามองเห็นเหมือนปกติ เพราะมันคือการสร้างอวัยวะขึ้นมาใหม่ ด้วยความตั้งใจ เราจะสร้างกระจกตาชีวภาพให้คนไข้คนไทยได้ใช้ในราคาที่เอื้อมถึง หรือพยายามให้เข้าไปอยู่ในระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยได้ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น อาจต้องใช้กลไกอย่างการหาเงินจากคนที่มีกำลังซื้อ มาซัพพอร์ตคนไข้คนไทย

เราไม่อยากทำแพง มันจะไม่เกิดประโยชน์เลย ถ้าวิจัยทำออกมาได้แล้ว แต่ไม่มีคนใช้


ขีดเส้นกี่ปี คนไทยได้ใช้กระจกตาชีวภาพ

ดร.ข้าว : เราพยายามทำเต็มที่ เพื่อให้คนไทยได้ใช้กระจกตาชีวภาพโดยเร็วที่สุด สำหรับต่างประเทศก็มีการศึกษาวิจัยกระจกตาชีวภาพอยู่เช่นเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเฟสสัตว์ทดลอง มีเพียงเจ้าเดียวในสหรัฐฯ ที่อาจจะไปถึงการทดลองในมนุษย์เฟสแรก ส่วนไทยอยู่ในช่วงสัตว์ทดลอง และเราจะเข้าทดลองในมนุษย์เฟสแรก ภายในปีหน้า ก็ใกล้เคียงกัน และจะพยายามทำให้สำเร็จทั้งหมดภายใน 5 ปี

ทุกวันนี้ยังไม่มีกระจกตาชีวภาพเกิดขึ้น และเราหวังว่าจะเป็นรายแรกของโลกในนามนักวิจัยและบริษัทสัญชาติไทย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สวทช.เปิดตัว “9 ดีปเทคสตาร์ทอัป” ขยายงานวิจัยสู่โมเดลธุรกิจใหม่

แพลตฟอร์มคนไทย ช่วยจัดการอาหารโรงเรียน ตอบโจทย์โภชนาการ-ต้นทุน

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง