บทวิเคราะห์ : ถึงคิว “สุพัฒนพงษ์”

การเมือง
24 มิ.ย. 65
09:42
170
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ถึงคิว “สุพัฒนพงษ์”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

แล้วก็ถึงคิวชื่อของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน อยู่ในลิสต์รายชื่อรัฐมนตรีที่ควรโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจอีก 1 คน จากเดิมที่ฝ่ายค้านกาชื่อไว้แล้ว 11 คน รวม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

การลิสต์รายชื่อควรถูกจับขึ้นเขียงซักฟอก ไม่ได้มาจากฝ่ายค้าน แต่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านการโยนหินถามทางของนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส. ราชบุรี ด้วยเสนอชื่อของนายสุพัฒนพงษ์

อ้างว่าประชาชนเป็นคนเรียกร้องมา และขณะนี้ มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เกือบ 20 คน ที่ไม่พอใจการบริหารจัดการเรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ถือเป็นความล้มเหลวของรัฐมนตรีพลังงาน

รุนแรงถึงขั้นระบุว่า หากฝ่ายค้านเพิ่มชื่อนายสุพัฒนพงษ์ อีก 1 คน อาจได้เห็นเซอร์ไพรส์ใหญ่ โดนน็อกกลางสภาได้

อย่างไรก็ตาม หากยังเป็นเพียงแค่การเสนอชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ฝ่ายค้านไม่ขานรับด้วย นายสุพัฒนพงษ์ก็ยังรอดตัวไม่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่ดี แม้ในช่วงที่ผ่านมา

โดยเฉพาะช่วงที่ราคาน้ำมันขยับแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นรายวัน นับตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย จะมีกูรูการเมืองรวมถึงประชาชนที่เดือดร้อนจากราคาน้ำมัน ถามหารัฐมนตรีพลังงานคนนี้กันให้ขรม

แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีรายชื่อในลิสต์ถูกซักฟอกจากฝ่ายค้าน หากฟังเหตุผลจากพรรคก้าวไกล ซึ่งเตรียมพร้อมอภิปรายเรื่องพลังงานและราคาน้ำมันแบบจัดเต็ม คือเป็นรัฐมนตรีขาลอย ไม่ได้เป็นนั่งร้าน จึงจะพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.แทน

ท่ามกลางการถูกตั้งข้อสังเกต หรือถูกทุนใหญ่ด้านพลังงานเข้ามาเจาะฐานพรรคได้สำเร็จ หลังจากก่อนหน้านี้ มี ส.ส.ของพรรคบางคนอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อต้นปี 2564 แล้วถูกบริษัทยักษ์ใหญ่พลังงานแห่งหนึ่ง ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย แต่ประเด็นถูกร้องขอให้งดเว้นอภิปราย เรื่องพลังงานจากทุนพลังงานยักษ์ใหญ่ ยังคงถูกปฏิเสธจากคนในพรรคก้าวไกล

การเปิดชื่อนายสุพัฒนพงษ์ ของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีขึ้นหลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เปิดวิวาทะโต้ตอบกับนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองนายกฯ สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และเพิ่งจะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อนายจุรินทร์ขึ้นไปเป็นหัวหน้าพรรค และดึงนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ทายาท ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผอ.องค์การค้าโลก ขึ้นเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคแทนนายกรณ์

ประเด็นหลักที่ทั้งคู่โต้ตอบกัน คือใครควรต้องรับผิดชอบกรณีน้ำมันแพง นายกรณ์ยืนยันว่า เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ ขณะที่นายจุรินทร์ แย้งว่า ไม่มีอำนาจโดยตรงในการสั่งให้ลดค่าการกลั่นหรือลดราคาน้ำมัน เพราะน้ำมันมีทั้งกฎหมายเฉพาะและคำสั่งเฉพาะของนายกรัฐมนตรีกำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อีกรอบ คราวนี้ดังกว่าเดิม

ไม่ว่าข้อเสนอของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ จะมีขึ้นเพื่อต้องการเบี่ยงเบนเป้าจากนายจุรินทร์ไปเป็นนายสุพัฒนพงษ์ ในฐานะรัฐมนตรีพลังงาน ที่ต้องรับผิดชอบเต็มตัวอย่างปฏิเสธไม่ได้

หรือต้องการส่งสัญญาณกระทุ้งไปยัง ปตท.อีกรอบ ในฐานะประธานคณะอนุกมธ. กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร

หลังจากกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพิ่งจะเปิดข้อมูลว่า ปตท.มีรายได้ในปี 2564 ทั้งหมด 2,258,818 ล้านบาท นำส่งกำไรให้รัฐ 83,526 ล้านบาท ทั้งที่นำส่งจริงเพียง 36,075 ล้านบาท

หากลบรายได้จากภาษีเงินได้ออกไป เพราะภาษีเงินได้ ปตท. ถือเป็นรายได้ที่ไม่ควรนำคำนวณ เนื่องจากทุกธุรกิจต้องเสียภาษีเงินได้ และเป็นภาษีที่ต้องนำส่งให้กับรัฐบาลทั้งสิ้น

แต่หากตัวเลข ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่ไม่พอใจผลงานของนายสุพัฒนพงษ์ มีเกือบ 20 คนจริง เท่ากับสะท้อนความล้มเหลวในฐานะรัฐมนตรีที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบ ไม่ใช่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา

ฉะนั้น เรื่องนายสุพัฒนพงษ์ มีภาคต่อให้ต้องติดตามต่อแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง