กมธ.ชงเลือกตั้งผู้ว่าฯ นำร่องภาคละจังหวัด หวั่นกระแสตีกลับ

การเมือง
25 มิ.ย. 65
20:53
1,075
Logo Thai PBS
กมธ.ชงเลือกตั้งผู้ว่าฯ นำร่องภาคละจังหวัด หวั่นกระแสตีกลับ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ซูการ์โน" กมธ.การกระจายอำนาจฯ เสนอมหาดไทยให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ แนะนำร่องภาคละ 1 จังหวัดก่อน เพื่อลดกระแสตีกลับ “เชียงใหม่-โคราช-ระยอง-ชลบุรี-ภูเก็ต-ยะลา”

วันนี้ (25 มิ.ย.2565) นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการพิจารณาของกรรมาธิการว่า มีข้อเสนอไปยังรัฐบาล พร้อมระบุเป้าหมายของกรรมาธิการ ที่จะยกร่างกฎหมายจังหวัดจัดการตนเอง คาดว่ารายงานจะเสนอต่อที่ประชุมสภาฯทันสมัยประชุมนี้ ที่แนบร่างกฎหมายประกอบการพิจารณาด้วย

สาระสำคัญ คือการเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนำร่องภูมิภาคละ 1-2 จังหวัด โดยเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญเรื่องการการจายอำนาจ ที่มีการปฏิรูปมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จาก เวียง-วัง-คลัง-นา เป็นระบบราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งกรรมาธิการเห็นว่ายังไม่ตอบโจทย์ประชาชน

โดยกลุ่ม We are Votetor ได้เปิดแคมเปญเข้าชื่อในเว็บไซต์ที่มีคนร่วมสนับสนุน 55,557 คน ซึ่งมีข้อเสนอที่ตรงกับกรรมาธิการฯ ในการให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการเอง ซึ่งกรรมาธิการยังจัดเวทีรับฟังความเห็น และต้องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเอง ซึ่งอ้างอิงถึงความแตกต่างระหว่างผู้ว่าราชการที่มาจากระบบราชการส่วนภูมิภาคกับผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยเฉพาะ หลังการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.

โดยหลักการร่างฯ จังหวัดจัดการตนเอง ตามร่างที่เสนอ มากว่า 100 มาตรา ส่วนหนึ่งที่เสนอในบทเฉพาะกาล คือ ยกเลิกการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและให้เป็นการรวมอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและ นายก อบจ.เข้าด้วยกัน ให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว

และหลังจากที่เชิญ นายวิฑูร เอี่ยมโอภาส ผู้อำนวยการสำนักคณะกรรมการการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะตัวแทนกระทรวงมหาดไทย คาดว่า ผลสรุปคือสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ออกกฎหมาย และข้าราชการมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย หากทุกพรรคการเมืองยกร่างการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เชื่อว่าคนไทยจะมีโอกาสเลือกผู้ว่าราชการของตัวเอง

ยอมรับว่า ห่วงกระแสตีกลับ หากมีการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว จึงเสนอแนะข้อสังเกตว่า ควรมีการนำร่องภูมิภาคละ1 จังหวัด ภาคเหนือที่ เชียงใหม่ ,ภาคอีสานอาจจะเป็น ขอนแก่น หรือ อุดรธานี หรือนครราชสีมา หรือที่ภาคใต้เป็นภูเก็ต หรือที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนข้อมูลที่กระทรวงมหาดไทยกังวล เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ภารกิจของผู้ว่าราชการจังหวัด หากมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการเลือกตั้ง จะกระทบกับความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับกฎหมายหลายฉบับ เชื่อมั่นว่าด้วยคุณวุฒิของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้ง จะสามารถปรับตัวได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ ได้เอง

แนวคิดดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบกับผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน แต่หากฝ่ายการเมืองให้ความเห็นชอบ ผ่านกลไกของสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่าข้าราชการก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม

ประเทศไทยมีการปกครองแบบรัฐซ้อนรัฐมานาน การเสนอจังหวัดจัดการตนเองเป็นการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็กำหนดไว้

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง