บทวิเคราะห์ : แผนเผชิญเหตุไฟไหม้

สังคม
28 มิ.ย. 65
18:11
402
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : แผนเผชิญเหตุไฟไหม้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ เข้ารับงานผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนที่ 17 อย่างเป็นทางการวันแรก 1 มิถุนายน 2565 ได้เพียงสัปดาห์เดียว ก็เกิดเหตุไฟไหม้ผับที่สีลม ซอย 2 เขตบางรัก ต้นเพลิงน่ามาจากสายไฟ แต่สาเหตุอยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยพิสูจน์หลักฐาน

พร้อมรับทราบข่าว รถดับเพลิงที่ไประงับเหตุ มาจากสถานีดับเพลิงบางรัก ห่างจากที่เกิดเหตุเพียงประมาณ 2 กม. แต่ใช้เวลาเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุ 11 นาที เนื่องจากการจราจรติดขัด ช้ากว่ามาตรฐานสากล รถดับเพลิง และหน่วยกู้ชีพกู้ภัย ต้องไปถึงที่เกิดเหตุภายในเวลา 8 นาที ไปถึงแล้วก็ยังไม่สามารถฉีดน้ำระงับเพลิงได้ เพราะยังไม่มีการตัดกระแสไฟฟ้า

ในมุมของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนใหม่ คือเป็นบทเรียนให้ทบทวนเรื่องการป้องกันหรือแผนเผชิญเหตุอัคคีภัย ทั้งเรื่องบันไดหนีไฟ การซักซ้อมแผนหนีไฟ การติดตั้งอุปกรณ์ถังดับเพลิงในอาคาร อุปกรณ์ในการดับเพลิงและการกู้ภัยของเจ้าหน้าที่ รวมถึงเมื่อเข้าถึงที่เกิดเหตุ ต้องประสานหน่วยงานการไฟฟ้าเพื่อตัดกระแสไฟฟ้าขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้

เป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงแผนเผชิญเหตุอัคคีภัยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในยุคสมัยผู้ว่าฯ ชัชชาติ

วันที่ 21 มิถุนายน 2565 เกิดเหตุเพลิงไหม้ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มีบ้านเรือนเสียหายถึง 30 หลัง มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน 109 ราย ต้องจัดที่พักพิงชั่วคราวและการช่วยเหลือเฉพาะหน้าให้กับผู้ประสบความเดือดร้อน

ถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งจากรัฐบาลกลาง โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกฝ่ายเร่งช่วยเหลือ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรี ลงพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยา

เช่นเดียวกับ ส.ส. และส.ก. รวมถึงองค์กรสาธารณกุศล ต่างผลัดเปลี่ยนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ เช่นเดียวกับประชาชนและเอกชนบางส่วน ให้ความเกื้อหนุนในช่วงที่ผู้คนยากลำบาก

 

นายชัชชาติ กล่าวย้ำว่า เป็นบทเรียนสำคัญของผู้อำนวยการเขต ที่ต้องเตรียมการ และซักซ้อม โดยเฉพาะเรื่องแผนเผชิญเหตุ ซึ่งมีความสำคัญ และต้องจะปรับปรุงให้ดีขึ้น

เป็นครั้งที่ 2 ที่นายชัชชาติ กล่าวย้ำถึงเรื่องแผนเผชิญเหตุ ที่เป็นการบ้านสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุบัติภัยต่าง ๆ รวมทั้งไฟไหม้

ถัดมา วันที่ 26 มิถุนายน 2565 เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้อีก ที่ย่านตลาดสำเพ็ง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ด้วยาเหตุหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด สร้างความเสียหายให้กับอาคาร ทรัพย์สินในบริเวณที่เกิดเหตุ มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 11 ราย และเสียชีวิต 2 ราย เหตุเกิดเมื่อเวลา 11.38 น.

จากสาเหตุหม้อแปลงระเบิด บริเวณอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น จากนั้นเพลิงได้ลุกไหม้ไปยังอาคารข้างเคียง ประกอบกับมีถังแก๊สตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง ในร้านขายอาหารตามสั่ง ทำให้เกิดแรงระเบิดเพิ่มขึ้น และรถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหาย ประสานการไฟฟ้านครหลวง สำรวจหม้อแปลงที่มีอยู่ 400 กว่าลูก เพื่อเรียกความเชื่อมั่นประชาชนกลับมา

นายชัชชาติ สรุปรายละเอียดเพิ่มเติมเหตุเพลิงไหม้ย่านสำเพ็งว่า ต้นเพลิงจากหม้อแปลงระเบิด ประกอบด้วย 3 ส่วน คือหม้อแปลง สายสื่อสาร และเชื้อเพลิงในอาคาร เกี่ยวเนื่องเป็นปัจจัยร่วมกัน ทำให้ไฟรุนแรงขึ้น

ในส่วนสายสื่อสารจะต้องเร่งนำลงใต้ดิน โดยจะตัดสายตายที่ไม่ใช้ออกก่อน เพื่อลดความเสี่ยง ส่วนที่ใช้งานจะทยอยนำลงใต้ดินนั้น ต้องหารือผู้ประกอบการเรื่องค่าเช่าไม่ให้แพงมาก เพื่อไม่ให้เป็นการผลักภาระให้ประชาชน

สิ่งสำคัญคือแผนเผชิญเหตุ แม้ว่าจะเห็นมีอาสาสมัครจำนวนมาก เข้ามาช่วยฉีดน้ำเข้าไปในอาคาร แต่อาจเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง

รูปแบบนี้เป็นปัญหามานาน จึงต้องประสานการทำงานระหว่างหน่วยอาสากับผู้บัญชาการเหตุ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพเต็มที่ ทุกคนมีความตั้งใจดี แต่ต้องมีการประสานงานที่ดี มีการจัดอบรม และจัดระเบียบให้ดีขึ้น

ได้มอบสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไปทำแผนความร่วมมือให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการเข้าเผชิญเหตุ

เป็นอีกครั้งที่นายชัชชาติ กล่าวย้ำถึงความสำคัญของแผนเผชิญเหตุ และยกตัวอย่างต้นแบบที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้ แต่ทำสำเร็จแล้ว

แผนเผชิญเหตุ (Incident Action Plan) คือ การวางแผนเพื่อช่วยลดความคลุมเครือกับเรื่องที่ต้องเผชิญ ช่วยลดไม่ให้เกิดความซับซ้อน หรืองานที่ไม่มีใครทำ ภายใต้การทำงานร่วมกัน การวางแผนช่วยควบคุม และติดตามการทำงาน

วัตถุประสงค์ของการทำแผนเผชิญเหตุ เพื่อระบุความสำคัญของการวางแผนในเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งทำความเข้าใจและซักซ้อมในทางปฏิบัติ ถึงขั้นตอนหลักต่าง ๆ และเกณฑ์สำหรับการจัดทำ เมื่อมีการเผชิญเหตุเกิดขึ้น

อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่แผนเผชิญเหตุเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น สำหรับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และเมืองอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง