ไทยยังไม่พบโอมิครอน BA.2.75 - ตัวเลข "BA.4-BA.5" ขยับ 489 คน

สังคม
4 ก.ค. 65
13:50
1,295
Logo Thai PBS
ไทยยังไม่พบโอมิครอน BA.2.75 - ตัวเลข "BA.4-BA.5" ขยับ 489 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สธ.เผยเริ่มพบการระบาดคลัสเตอร์เล็ก ๆ ในโรงเรียน ขณะที่การสุ่มตรวจสายพันธุ์ COVID-19 วันที่ 25 มิ.ย.- 1 ก.ค. จำนวน 948 คน พบโอมิครอน "BA.4-BA.5" ครองสัดส่วนมากที่สุด 489 คน หรือ 51.7% ยืนยันยังไม่พบ BA.2.75 ในไทย

วันนี้ (4 ก.ค.2565) เวลา 11.15 น. กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวในประเด็นการเฝ้าระวัง COVID-19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถานการณ์ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดย นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

 

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า การแพร่ระบาด COVID-19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ในแอฟริกาใต้ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เป็น BA.4 ร้อยละ 64 และ BA.5 ร้อยละ 27 ส่วนอังกฤษ BA.4 ร้อยละ 19 และ BA.5 ร้อยละ 28 และสหรัฐอเมริกา BA.4 ร้อยละ 13 และ BA.5 ร้อยละ 24 ส่วนไทย BA.4 ร้อยละ 17 และ BA.5 ร้อยละ 20 ซึ่งเข้าสู่ระยะการระบาดเพิ่มเติม แต่มีความครอบคลุมของวัคซีน 76 %

ในวันนี้ (4 ก.ค.2565) ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 1,995 คน มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 677 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 293 คน เสียชีวิต 18 คน ซึ่งผู้ป่วยปอดอักเสบเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ มีผู้ป่วยลงทะเบียน OPSI (ATK) รับยาผ่าน สปสช. ในสัปดาห์ที่ 25 เป็น 207,643 คน จาก 191,049 คน ถือว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อาจต้องเพิ่มเติมมาตรการป้องกันโรคด้วยการสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก และการใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท

อีกทั้งขณะนี้เริ่มพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่เสี่ยง โรงเรียน สถาบันการศึกษาหลายจังหวัด แต่ควบคุมได้ อย่างไรก็ตามอาจแพร่เชื้อไปยังครอบครัว คนใกล้ชิด และกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 โรค หญิงตั้งครรภ์) โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้อัตราการครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 10 ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่หากถึงร้อยละ 50 จะเป็นสัญญาณเตือนให้บริหารจัดการเตียงอย่างเหมาะสมในทุกจังหวัด พร้อมยืนยันว่ามียาและเวชภัณฑ์เพียงพอ โดยขอความร่วมมือกลุ่ม 608 ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ลดอาการป่วยรุนแรง ส่วนกรณีการรายงานโรคจะเน้นผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลเป็นหลัก

 

ขณะที่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า พบผู้ป่วย COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน 100% โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจหาสายพันธุ์ 948 คน เป็น B.1.1.529 จำนวน 10 คน BA.2 จำนวน 447 คน BA.4 และ BA.5 จำนวน 489 คน คาดว่าอีกไม่นาน BA.4 และ BA.5 จะครองสัดส่วนสายพันธุ์ย่อยที่แพร่ระบาดในไทย พบมากที่สุดในกรุงเทพฯ ส่วนข้อมูลความรุนแรงของอาการขณะนี้ยังมีไม่มากพอ แต่ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วอาจติดซ้ำได้ เพราะ BA.4 และ BA.5 แพร่เชื้อได้ไวขึ้น

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สายพันธุ์ BA.2.75 ยังไม่พบในไทย ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวมีการกลายพันธุ์ในบางตำแหน่งที่ส่อว่าจะหลบภูมิ แต่ขอประชาชนอย่ากังวล เพราะในประเทศมีการเฝ้าระวังและถอดรหัสทั้งตัว สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 500 ตัวอย่าง

ขณะที่สัดส่วนคนไข้อาการหนัก อยู่ที่ร้อยละ 2 หากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ตัวเลขดังกล่าวก็จะเพิ่มตามไปด้วย ขณะนี้ต้องพิสูจน์ว่า BA.4 และ BA.5 ที่อาจจะแพร่เร็วขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่าทำให้ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ จึงขอรวบรวมข้อมูลอีกระยะ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง