สธ.ประเมินติดโควิดกลุ่มสีเขียว 10 เท่า-จับตากลุ่มอาการรุนแรง

สังคม
4 ก.ค. 65
17:53
326
Logo Thai PBS
สธ.ประเมินติดโควิดกลุ่มสีเขียว 10 เท่า-จับตากลุ่มอาการรุนแรง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรค ระบุแนวโน้มติดโควิดเพิ่มหลังมาตรการผ่อนคลาย ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงหรือกลุ่มสีเขียว คาดมี 10 เท่าของผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ขณะนี้รักษาตัว 677 คน ซึ่งต้องจับตาเพราะมีผลต่อระบบสาธารณสุข ส่วนผู้สูงอายุฉีดวัคซีนเข็ม 3 ไม่ถึงร้อยละ 60

วันนี้ (4 กรกฎาคม 2565) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น หลังจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการน้อยไม่รุนแรง หรือเรียกว่าผู้ป่วยสีเขียว และคาดว่าอาจมีจำนวนมากกว่า 10 เท่า ของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จึงเน้นติดตามสถานการณ์ และรายงานตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีผลกระทบต่อระบบรองรับทางสาธารณสุขเละการแพทย์ จึงจำเป็นต้องจับตา และรายงานสถานการณ์จำนวนผู้ป่วยที่อาการรุนแรงเป็นหลักเพื่อนำมาวิเคราะห์หรือกำหนดแนวทางมาตรการต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้

ปัจจุบันมีการครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 10% ของจำนวนเตียงทั้งหมด ขอให้มั่นใจว่าการเผยแพร่ทุกข้อมูลเป็นไปตามที่นานาชาติทำ คือปรับระบบการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อจากรายวัน เป็นรายสัปดาห์ หรือรายงานเฉพาะการเสียชีวิต

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ระบบสาธารณสุข เตรียมความพร้อมทรัพยากรสามารถรองรับได้เพียงพอทั้งเตียง แพทย์ ยา และเวชภัณฑ์  ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย ติดตามได้จากข้อมูลทะเบียนผู้ติดเชื้อที่ไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค หรือเฟซบุ๊กเพจกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเฟซบุ๊กเพจศูนย์ข้อมูล COVID-19  

อ่านข่าวเพิ่ม ไทยยังไม่พบโอมิครอน BA.2.75 - ตัวเลข "BA.4-BA.5" ขยับ 489 คน

 

ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนเข็ม 3 ไม่ถึงร้อยละ 60 

ด้านนพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 เป็นพื้นฐาน และฉีดเข็มกระตุ้นต่อไปทุก 4 เดือน เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คือ คือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตหากติดเชื้อ

แม้ภาพรวมการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 จะยังไม่ถึง ร้อยละ 60 แต่หากพิจารณาในรายจังหวัดจะพบว่ามีหลายจังหวัดที่มีผู้สูงอายุได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน ร้อยละ 60 ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต  

 

ขณะที่ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ติดเชื้อ 1,995 คน จำแนกเป็นผู้ป่วยในประเทศ 1,993 คน
ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 2 คน ผู้ป่วยสะสม 2,308,665 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,148 คน หายป่วยสะสม 2,308,070 คน(ตั้แต่ 1 ม.ค.2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 24,818 รายเสียชีวิต 18 คน เสียชีวิตสะสม 9,020 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ
รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 677 คน ผู้ป่วยใช้ท่อช่วยหายใจ 293 คน  ส่วนตัวเลขสะสมการฉีดวัคซีนโควิด 28 ก.พ.2564 -3 ก.ค.2565 จำนวน140,036,597 โดส 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง