อาฟเตอร์ช็อก "โควิดระลอกใหม่" พีคสุด ก.ย.คาด 4,000 คนต่อวัน

สังคม
5 ก.ค. 65
13:39
1,422
Logo Thai PBS
อาฟเตอร์ช็อก "โควิดระลอกใหม่" พีคสุด ก.ย.คาด 4,000 คนต่อวัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดระลอกใหม่ มีแนวโน้มเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขขยับต้นเดือนก.ค.นี้ พีคสุด ก.ย.นี้คาดไม่เกิน 4,000 คนต่อวัน โดยอัตราครองเตียงกทม.-ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวเพิ่มสูง ปลัดสธ.สั่งรับมือหมอ เตียง ยาพร้อม

วันนี้ (5 ก.ค.2565) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ 1,917 คน ผู้ป่วยสะสม 2,310,582 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) หายป่วยกลับบ้าน 2,282 คน ผู้ป่วยกำลังรักษา 24,435 คน เสียชีวิต 18 คน จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 705 คน

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้อัตราการครองเตียงที่มีอาการหนักอยู่ที่ร้อยละ 10.9  ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่หากถึงร้อยละ 50 จะเป็นสัญญาณเตือน ให้บริหารจัดการเตียงอย่างเหมาะสมในทุกจังหวัด  

สำหรับอัตราครองเตียงสูงสุดคือ กทม. 35.6% สมุทรปราการ 28.2% ภูเก็ต 28.4% นนทบุรี 27.6% ปทุมธานี 21.6% เรียกว่า ตัวเลขกำลังขาขึ้นในส่วนของผู้ติดเชื้อ แต่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลยังเพิ่มไม่มาก และระบบสาธารณสุขยังรองรับได้

ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าวว่า  หากเทียบอัตราผู้ป่วยโควิดระลอกเดือน ม.ค.2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 3 ก.ค.2565 ที่รักษาในโรงพยาบาลพบว่า กทม.-ปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อนอนรักษาตัว เช่น กทม.เฉพาะวันที่ 3 ก.ค.จำนวน 1,469 คน สมุทรปราการ จำนวน 149 คน ปทุมธานี 27 คน นนทบุรี 25 คน และนครปฐม 23 คน

 

ข้อมูลสะสมรายสัปดาห์ที่ 22-26 พบว่าเริ่มมีตัวเลขขยับชัดเจน กทม.มากสุด 10,543 คน สมุทรปราการ 732 คน ชลบุรี 582 คน นนทบุรี 142 คน แสดงถึงสถานการณ์คนติดโควิดเพิ่มขึ้นในกทม.-ปริมณฑลและจังหวัดท่องเที่ยว ถือเป็นสัญญาณเตือนที่เริ่มต้นว่าจังหวัดใหญ่ที่มีการท่องเที่ยว กทม.-ปริมณฑล อาจต้องมีมาตรการป้องกัน โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย ยังจำเป็น 

ปัจจัยที่จะบอกว่าเส้นกราฟจะสูงมากคือการป้องกันโรคส่วนบุคคล ถ้าทำได้ใกล้เคียงก่อนผ่อนคลายก็จะไม่สูงมาก แต่หากถอดหน้ากากอนามัยทัั้งหมด ยอดจะสูงสุดในเดือนก.ย. สถานการณ์อาจจะเปลี่ยน

คาดการณ์ก.ย.นี้อาฟเตอร์ช็อกโควิดติดเชื้อ 4,000 คนต่อวัน 

นพ.จักรรัฐ กล่าวถึง กรณีการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อว่า การรายงานโรคเน้นผู้ป่วย และมอนิเตอร์ผู้ป่วยที่ลงในระบบของโรงพยาบาลเป็นตัวหลัก และยืนยันว่ามีการติดตามสถานการณ์ผู้ป่วย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 ถึง ปี 2566 จากการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น คาดว่าจะเกิดการระบาดในลักษณะคลื่นเล็กๆ แต่ทำให้ยอดการป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่ง สธ.เรียกว่า เป็นอาฟเตอร์ช็อก จากเมนช็อกคือการระบาดในเดือนม.ค.

โดยจะเริ่มตั้งแต่สัปดาห์นี้ ที่มีผู้ป่วยราวๆ 2,000 คนต่อวัน และไปพีคสุดในเดือนก.ย. ที่คาดว่าจะไม่เกิน 4,000 คนต่อวัน แต่ตัวเลขนี้จะเกิดขึ้นได้ หากยังคงมาตรการเช่นในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
 

สธ.ชี้หมอ เตียง ยาเพียงพอรับระลอกใหม่ 

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ของไทย เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจากนี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด เหมือนอย่างโรคอื่นๆ หมายความว่า ยังสามารถพบการติดเชื้อได้ แต่ความรุนแรงของโรคลดลง การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะไม่มากเกินระบบสาธารณสุขที่มีจะรองรับได้

ปลัดสธ.กล่าวว่า จากการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจการและกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงมีการเปิดประเทศ ทำให้มีผู้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้น อาจพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ใช่การระบาดใหญ่ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีการเตรียมความพร้อมรองรับตามแนวทาง 3 พอ คือ หมอพอ เตียงพอ ยาและเวชภัณฑ์พอ

มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ จึงเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขไว้รองรับ กำชับและแจ้งไปยังหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้บุคลากรทางการแพทย์ป้องกันตนเองในการให้บริการ เตรียมความพร้อมยา เวชภัณฑ์ สำรองเตียง ความพร้อมระบบส่งต่อ

ยังไม่ยกระบบเตือนภัยโควิด 

นอกจากนี้ปลัดสธ.กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังคงแจ้งเตือนภัยโควิด 19 ในระดับ 2 ยังไม่จำเป็นต้องยกระดับการแจ้งเตือน โดยในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด เน้นตามมาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention คือ มาตรการป้องกันโรค ทั้งเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก แม้จะมีการออกประกาศให้สวมหน้ากากโดยสมัครใจ แต่แนะนำให้ยังต้องสวมในกลุ่มผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง รวมถึงยังต้องสวมเมื่อไม่สามารถเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้ การเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก การอยู่ในสถานที่เสี่ยงหรือสถานที่แออัด

ส่วน Universal Vaccination คือ มาตรการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต ทำให้ลดการเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาล และระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง