The EXIT กับดักค้ามนุษย์ : EP.1 เดิมพันไทยหวังพ้น Tier 2 Watchlist

สังคม
5 ก.ค. 65
15:19
192
Logo Thai PBS
The EXIT กับดักค้ามนุษย์  :  EP.1 เดิมพันไทยหวังพ้น Tier 2 Watchlist
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หนึ่งในความพยายามของไทยที่จะหลุดจาก Tier 2 Watchlist ในรายงานการติดตามและการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ หรือ ทิป รีพอร์ต ของสหรัฐฯ ประจำปี 2565 คือ การช่วยคนไทยที่ลักลอบไปทำงานที่กัมพูชา ซึ่งหลายคนเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายคดีค้ามนุษย์

 

การช่วยเหลือคนไทย 18 คน จาก จ.พระสีหนุ ประเทศกัมพูชา กลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2565 เกิดขึ้นหลังจากผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งไลฟ์ทางเฟซบุ๊ก ขอความช่วยเหลือจากไชน่าทาวน์ จ.พระสีหนุ ประเทศกัมพูชา หาทางกลับประเทศไทยในคืนวันที่ 16 มิ.ย. 2565 บอกเล่าชะตากรรมตัวเองที่ถูกหลอกไปทำงาน และ กำลังจะถูกขายต่อให้นายจ้างคนอื่น เช่นเดียวกับคนไทย 30 – 50 คน ที่ทำงานอยู่ในอาคารหลังเดียวกัน สาเหตุเพราะทำยอดหลอกเงินจากคนไทยไม่ได้ตามที่นายจ้างกำหนด

 

ตอนนี้ผมอยู่สีหนุ ไชนาทาวน์ กำลังจะโดนขายไม่วันนี้ก็วันพรุ่งนี้ คนไทยเยอะมากตอนนี้ที่โดนหลอกมาเหมือนกัน ไม่รู้จะตายหรือจะรอด ช่วยแชร์กันหน่อยครับคนไทยทุกคนผมขอร้อง ผมไม่ไหวจริงๆ ผมและคนไทยอีก 30 - 40 คนที่โดนหลอกมาอย่างกับอาหารพวกของใข้ขายกันได้ คนไทยขายกันเองครับ ช่วยผมหน่อยครับ 

ร.ต.อ.กฤษณะ เอี่ยมสอาด รองสารวัตร กองกำกับการสืบสวน ภ.จว.สระแก้ว ชุดทำงานศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) ได้พูดคุยกับคนไทยกลุ่มนี้แล้ว พร้อมกับให้ข้อมูลว่า นอกจาก คนไทยอายุตั้งแต่ 15 – 35 ปี รวม 18 คน ที่ช่วยเหลือมาในครั้งนี้ ยังมีคนไทยอีกประมาณ 50 คน ที่ถูกขายต่อไปยังนายจ้างชาวจีนอื่นๆ ใน จ.พระสีหนุ ยังอยู่ระหว่างเร่งประสานความช่วยเหลือ

ตั้งแต่ ต.ค. 2564 ถึง ปัจจุบัน ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ศพดส.ตร. ) ดำเนินการช่วยเหลือคนไทยลักลอบเดินทางไปทำงานที่ประเทศกัมพูชา และถูกบังคับให้ทำงานที่ผิดกฎหมายหรือหลอกลวงคนไทยด้วยกันเอง รวม 26 ครั้ง มีคนไทยได้รับความช่วยเหลือ 857 คน

 

คนไทยที่ถูกช่วยเหลือกลับประเทศต้องเข้าสู่กระบวนการคัดแยกว่าเป็นผู้เสียหายในขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ ซึ่งผลการคัดแยกพบว่าจากทั้งหมด 857 คน พบเป็นผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์ 275 คน อีก 582 คนจะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น ตำรวจยังออกหมายจับผู้ต้องหาเครือข่ายนำพาคนไทยไปทำงานผิดกฎหมาย ทั้งหมด 107 หมาย 37 คดี และ ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ อีก 20 คดี ออกหมายจับผู้ต้องหา 82 หมาย

การกวาดล้างขบวนการนำพาคนไทยไปทำงานผิดกฎหมาย ยังมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ 4 คน คือ สท.โคกสูง เขต 2 จ.สระแก้ว ในข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ ส่วนอีก 3 คน เป็นทหารพราน 1 คน และอาสาสมัครทหารพราน 2 คน สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 12 ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันจัดหางานฯ ตาม พ.ร.บ.จัดหางานฯ และ ร่วมกันนำพาคนไทยออกไปต่างประเทศ

แต่ภารกิจช่วยเหลือคนไทยที่ถูกบังคับทำงาน และ อาจตกเป็นผู้เสียหายคดีค้ามนุษย์ในกัมพูชายังไม่ยุติ ยังมีคนไทยมากกว่า 1,000 คน รอความช่วยเหลือ



คนไทยที่ข้ามแดนไปทำงานผิดกฎหมายที่ประเทศกัมพูชา และ ขอความช่วยเหลือกลับประเทศ ทั้งหมดมีนายจ้างเป็นชาวจีน บังคับให้ทำงานหลอกคนไทย เช่น หลอกให้ลงทุน , คอลเซ็นเตอร์ , หลอกปล่อยเงินกู้

นายจ้างชาวจีนที่ทำธุรกิจลักษณะนี้จะอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น  จ.พระสีหนุ กรุงพนมเปญ และปอยเปต ซึ่งหากคนไทยไม่สามารถทำงานได้จะถูกบังคับขู่เข็ญ ทำร้ายร่างกาย ขายต่อให้นายจ้างชาวจีนในธุรกิจอื่นๆ และ หากคนใดต้องการกลับประเทศต้องเสียเงินค่าไถ่ตัวเองตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักหลายแสนบาท

 

รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) เป็นรายงานที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี ตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ TVPA) เพื่อรายงานต่อรัฐสภา สหรัฐฯ โดยเปรียบเทียบสถานการณ์การค้ามนุษย์ของทั่วโลกกับมาตรฐานของสหรัฐฯ และ จัดลำดับประเทศต่างๆ ออกเป็น 4 ระดับ ระดับต่ำสุดคือ Tier 3 

เมื่อปี 2557 - 2558 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในบัญชีประเภท 3 ( Tier 3 ) หรือ ระดับต่ำสุด เพราะมองว่าไทยเป็นทั้งประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของขบวนการค้ามนุษย์

ผลกระทบหนึ่งของการถูกจัดอยู่ในบัญชีประเภท 3 คือ การเปิดทางไปสู่การใช้มาตรการการคว่ำบาตรทางการค้าจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่หลังจาก ไทยประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2558 ไทยได้รับการจัดอันดับไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watchlist) 2 ปีติดต่อกัน ( 2559 – 2560 ) และ ขยับเป็นเทียร์ 2 อีก 3 ปี ( 2561 – 2563 ) ซึ่งนับเป็นสถานะที่ดีที่สุดของประเทศไทย

ปี 2564 ไทยตกไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watchlist) อีกครั้ง และ หากในปีนี้สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น หรือ ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Tier 2 Watchlist ปีหน้าไทยอาจถูกปรับลดระดับสู่บัญชีประเภท 3 หรือ Tier 3 โดยอัตโนมัติ นี่เป็นสาเหตุสำคัญให้ไทยต้องแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังเพื่อให้นานาชาติประจักษ์

 

15 – 18 พ.ค. 2565 คณะผู้แทนไทยเข้าพบปะหารือ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ โดยแสดงถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย มีการสรุปผลงาน ภาพรวมของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และ การช่วยเหลือผู้เสียหายที่จากการค้า มนุษย์ รวมทั้ง การดําเนินคดีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้ สหรัฐฯ เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของประเทศไทย

 

มีรายงานว่า สหรัฐฯ ให้ความสนใจ และ ซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการดําเนินการช่วยเหลือคน ไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะแนวทางการประสานงานช่วยเหลือคนไทยจากประเทศกัมพูชา และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งสถิติการดําเนินคดีกับผู้ต้องหาค้ามนุษย์ของไทยที่มีการดําเนินคดีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และยังมีจํานวนคดีที่สั่งไม่ฟ้องลดลงอย่างน่าพอใจซึ่งเป็นผลจากการประสานงานให้พนักงานอัยการร่วมกับพนักงานสอบสวนตรวจสำนวนคดีก่อนส่งฟ้องเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ครบถ้วน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง