บทวิเคราะห์ : ชนะ “หาร 500” ยังไม่การันตีชนะเลือกตั้ง

การเมือง
7 ก.ค. 65
15:32
339
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ชนะ “หาร 500” ยังไม่การันตีชนะเลือกตั้ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พลิกเกมกลับมาชนะได้ สำหรับขั้วรัฐบาลปัจจุบัน เปลี่ยนสูตรคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อจากเดิมหาร 100 เปลี่ยนเป็นหาร 500 ชั่วข้ามคืน ชนิดที่คอการเมืองพันธุ์แท้เองก็เข้าใจได้ยาก

ในเมื่อก่อนหน้านี้ ยืนยันมาตลอดว่าจะต้องหารด้วย 100 เพราะหลักการในต้นร่างที่รัฐสภาผ่านวาระรับหลักการ ก็เป็นสูตรหารด้วย 100 กรรมาธิการวิสามัญ ที่พิจารณาร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ มติส่วนใหญ่ก็ให้หาร 100

วิปรัฐบาลก่อนการประชุมในวาระ 2 ก็เห็นด้วยกับหาร 100 เช่นเดียวกับนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค มือกฎหมายคนสำคัญของ พปชร.ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคเชื่อใจ ก็ยืนยันว่าต้องหารด้วย 100

เพียงมีข่าวว่า มีการส่งซิกจากใครบางคนในรัฐบาล ต้องการให้หารด้วย 500 ฉับพลันทันใด ส.ส.ขั้วฝ่ายรัฐบาลและส.ว.ส่วนใหญ่ ก็เปลี่ยนจุดยืนเดิมที่หารด้วย 100 ไปเป็น 500 โดยไม่มีคำอธิบายที่ผู้คนอื่น ๆ เข้าใจได้ถึงเหตุผลแบบปัจจุบันทันด่วนของผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย

จึงอาจเป็นที่มาของข้อกล่าวหาว่าเป็น “สภาเผด็จการ” ที่บรรดาส.ส.ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย คิดฉายาให้

เช่นเดียวกับเสียงวิพากษ์ที่ดุเดือดเข้มข้นว่า เป็นเพราะคนมีอำนาจ ต้องการแบบนี้ ภายใต้การแลกเปลี่ยนระหว่าง ไฟเขียวให้หารด้วย 500 กับเสียงโหวตในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของ ส.ส.พรรคเล็กประมาณ 30 เสียง

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง และเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ โควตาพรรคเสรีรวมไทย ยืนยันชัดเจนว่า กระแสให้เปลี่ยนสูตรหารหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีมาตั้งแต่วันแรกของการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลูก คือ วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม 65 และชัดเจนมากในช่วงเย็นของวันดังกล่าว ชนิดหากเปรียบเทียบกับเล่นพนันขันต่อทั่วไป คือไม่มีใครกล้ารอง

เป็นวันเดียวกับเกิดเหตุสภาล่ม ที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา สั่งปิดประชุมด้วยเหตุผล....”ขาดอีกเพียงแค่ร้อยกว่าคน(จะครบองค์ประชุม)”

เท่ากับทั้งส.ส.และส.ว.ในขั้วสนับสนุนรัฐบาล ยื้อเวลารอรับสัญญาณสุดท้าย (ว่าจะให้)เอาไงต่อ?

ผลพวงจากการโหวตกลับลำแบบ 360 องศา นอกจากรัฐสภาต้องส่งร่างไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามมาตรา 132 เพื่อพิจารณาว่า ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแล้ว

พรรคเพื่อไทยยังยืนยันจะยื่นเรื่องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สอบสวนกรณีจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงอีกทางหนึ่ง

นอกจากการเตรียมแก้ลำ โดยจัดตั้งพรรคการเมืองคู่ขนานเหมือนการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ที่รู้จักกันดีในชื่อเรียก “แตกแบงก์พัน” แล้ว ยังต่างกันตรงที่พรรคใหม่จะเน้นไปที่ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะย้ายคนระดับเกรอ เอ จากพรรคเพื่อไทยไปพรรคใหม่ ขณะที่พรรคเพื่อไทย จะเน้นที่ ส.ส.เขต

ถือเป็นหนึ่งในหลายวิธีการรับมือที่พรรคเพื่อไทยจะเลือกใช้ ขณะที่พรรคการเมืองอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตรพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน ต่างก็ต้องปรับตัวหาวิธีการรับมือเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังต้องมีการประสานจับมือกันอย่างจริงจัง ของพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านอื่นที่ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 100 % เพื่อประสานพลังรับศึกเลือกตั้งสู้กับพรรคขั้วรัฐบาล

การชนะโหวตหารด้วย 500 ของรัฐบาล ถือเป็นการชิงความได้เปรียบตุนใส่ในกระเป๋าเท่านั้น ยังไม่ใช่หลักประกันยืนยันว่า จะเป็นฝ่ายชนะเลือกตั้งครั้งหน้า นอกจากต้องรอดูการพลิกเกมของขั้วตรงข้ามแล้ว ยังต้องประเมินและวัดผลคะแนนนิยมต่อรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จากมุมของประชาชนเป็นสำคัญอีก 1 ปัจจัย

นอกจากพิษเศรษฐกิจและค่าครองชีพมหาโหด ที่ชาวบ้านโดนไปเต็ม ๆ แล้ว ผลจากการพลิกเกมโหวตหารด้วย 500 ครั้งนี้ จะมี “ฟีดแบ๊ค” จากประชาชนทั่วไปด้วยหรือไม่ และแค่ไหน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง