"ปิติ" ย้อนอดีต-มองอนาคต วิกฤต "ศรีลังกา"

ต่างประเทศ
11 ก.ค. 65
20:04
408
Logo Thai PBS
"ปิติ" ย้อนอดีต-มองอนาคต วิกฤต "ศรีลังกา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ระบุวิกฤตศรีลังกาเกิดขึ้นเพราะการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาล ที่เน้นแต่นโยบายประชานิยม แม้ผู้นำศรีลังกาจะประกาศลาออก แต่ประชาชนยังคงไม่ไว้ใจ หวั่นเกิดรัฐประหาร

วันนี้ (11 ก.ค.2565) รศ.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศศรีลังกา หลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ โดยกล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้มี 2 เหตุผลหลักคือ การบริหารจัดการที่ผิดพลาดของตระกูลราจาปักษา ที่นำครือญาติและนโยบายประชานิยมมาใช้ และปัญหาโครงสร้างที่เกิดขึ้นเรื้อรังหลายรัฐบาล

ปัญหาโครงสร้าง เริ่มตั้งแต่ยุคแรกของตระกูลราจาปักษา ที่มีอำนาจในศรีลังกา มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ทำไม่เสร็จ เพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็น "สิริเสนา" โครงการที่เป็นของตระกูลราจาปักษาทั้งหมดถูกโค่นล้ม เมื่อตระกูลราจาปักษากลับมามีอำนาจได้อีกครั้ง ก็ล้มโครงการของรัฐบาลสิริเสนาเช่นกัน

การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของการเมืองศรีลังกา ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานสร้างไม่สร็จ ขณะเดียวกัน เงินที่ไหลเข้ามาในประเทศ ก็ไม่ได้นำปรับปรุงประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ แต่ถูกนำไปใช้ในการเกร็งกำไร และสร้างความบิดเบี้ยวให้กับระบบเศรษฐกิจ เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ เศรษฐกิจโต แต่ประเทศไม่พัฒนา

ขณะที่ปัญหาของการบริหารจัดการ คือการนำนโยบายประชานิยมมาใช้อย่างสุดขั้วของตระกูลราจาปักษา นำเครือญาติมาเป็นผู้บริหาร เป็นรัฐวิสาหกิจ ประชาชนไม่ต้องเสียภาษี รัฐบาลไม่มีรายรับ มีแต่รายจ่ายจำนวนมากศาล

ตระกูลราจาปักษาแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์เงินเพิ่มและกู้เงิน แต่ก็ไม่สามารถบริหารจัดการได้ ก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เงินตราต่างประเทศไหลออก นักท่องเที่ยวไม่มี ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ขาดแคลนพลังงาน สุดท้ายกลายเป็นวิกฤตหนักที่สุดในขณะนี้

รศ.ปิติ ระบุว่า ขณะนี้ชาวศรีลังกายังไม่ไว้ใจ แม้ "โกตาบายา ราจาปักษา" ประธานาธิบดีศรีลังกา และ "รานิล วิกรมสิงเห" นายกรัฐมนตรี จะประกาศลาออก ประชาชนยังคงปักหลักชุมนุม ท่ามกลางกระแสข่าวลือเรื่องการทำรัฐประหาร

เมื่อถามว่าใครจะสามารถช่วยกอบกู้ศรีลังกาได้ รศ.ปิติ กล่าวว่า นาทีนี้ต้องพึงพาอินเดีย เพราะอินเดียมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด แม้ในอดีต 2 ประเทศนี้จะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกัน

ตอนนี้อินเดียได้มอบเงินช่วยเหลือแล้ว 2,400 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมให้เครดิตพลังงานและอาหาร

"ประชานิยม" เหมือนกับสเตียรอยด์

รศ.ปิติ กล่าวว่า ประชานิยมเหมือนกับสเตียรอยด์ ที่ไม่ได้ไปรักษาที่ต้นตอของโรค เพียงแต่ทำอาการดูดีขึ้น ประชานิยมอาจจำเป็นที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากอาการโคม่า แต่ไม่สามารถใช้สเตียรอยด์ในระยะยาวเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงได้ เพราะมันจะทำให้กลายเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ

ก่อนเลือกตั้ง ประชาชนต้องรู้เท่าทันประชานิยม พรรคการเมืองไหนเสนอประชานิยมอย่างเดียว โดยไม่มีแผนรองรับระยะยาว ก็ไม่ควรสนับสนุน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ประธานาธิบดีและนายกฯ" ศรีลังกา ประกาศลาออก

วิเคราะห์ : มองอนาคตหลัง "ศรีลังกา" ล้มละลาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง