รู้จัก "รถโรบอต" ตัวช่วย ตร.ภารกิจสยบคนถือระเบิดจับตัวประกัน

อาชญากรรม
15 ก.ค. 65
14:44
1,109
Logo Thai PBS
รู้จัก "รถโรบอต" ตัวช่วย ตร.ภารกิจสยบคนถือระเบิดจับตัวประกัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้จัก "รถโรบอต" ตัวช่วยตำรวจในภารกิจสยบ หนุ่มคลุ้มคลั่งถือระเบิด พร้อมจับหญิงสาวเป็นตัวประกันใน จ.ขอนแก่น ด้วยคุณสมบัติกล้องซูมไกล อุปกรณ์ขนส่งสิ่งของ และระบบสื่อสาร เพื่อสนับสนุนภารกิจเชิงยุทธวิธีในพื้นที่เสี่ยง จากฝีมือทีมสืบสวนตำรวจภูธรภาค 4

จากกรณีเหตุระทึก "หนุ่มเก็บของเก่า" คลุ้มคลั่งถือระเบิด พร้อมจับหญิงสาวเป็นตัวประกัน บริเวณซอยชุมชนเทพารักษ์ 4 ถ.หลังศูนย์ราชการ เขตเทศบาลนครขอนแก่น ภาพปฏิบัติการที่ออกมาได้รับความสนใจจากสื่อสังคมออนไลน์อย่างมาก โดยเฉพาะการใช้รถบังคับสีดำคันเล็กในภารกิจครั้งนี้ 

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ พล.ต.ต.นพเก้า โสมนัส ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ภารกิจผู้ก่อเหตุถือระเบิดจับตัวประกันที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวานนี้ หลังประเมินสถานการณ์โดยใช้กล้องติด "รถโรบอต" ซูมเข้าไปพบว่า ผู้ก่อเหตุถือระเบิด M61 อยู่ และนิ้วมืออยู่ในกระเดื่อง ซึ่งหากถอดสลักออก ระเบิดก็พร้อมทำงาน จึงประเมินว่าเป็นสถานการณ์ที่อันตรายต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่

ภาพ : ตำรวจภูธรภาค 4

ภาพ : ตำรวจภูธรภาค 4

ภาพ : ตำรวจภูธรภาค 4


ภารกิจในครั้งนี้ จึงนับว่าเหมาะสำหรับการใช้รถโรบอต​ โดยมีการวางกลยุทธ์​ ให้รถโรบอตนำน้ำไปให้ผู้ก่อเหตุ ขณะนั้นผู้ก่อเหตุไม่ได้เอาไปเพียงแค่น้ำเท่านั้น​ แต่ยังนำรถโรบอตไปด้วย​ และได้พูดคุยกับรถอยู่นาน​ เจ้าหน้าที่ใช้ระบบที่ติดตั้งกับรถรับฟังผู้ก่อเหตุผ่านวิทยุสื่อสาร 

หลังจากเจรจากันสักระยะ วินาทีนั้น ตำรวจติดต่อตัวประกันทางโทรศัพท์ได้เพื่อสื่อสารและวางแผนให้ตัวประกันหลบหนีออกมา กระทั่งตัวประกันวิ่งหนีออกมา เจ้าหน้าที่ทุกนายระดมกำลังช่วยกันปฏิบัติการตามยุทธวิธีจนภารกิจสำเร็จ

นับว่ารถโรบอตเป็นเครื่องมือสำคัญที่สนับสนุนเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยได้เป็นอย่างดี จนสามารถช่วยเหลือตัวประกันไว้ได้ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้มีการสนับสนุนการพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจมาโดยตลอด

"ผู้กองหมูแฮม" ผู้ประดิษฐ์รถโรบอต ติดตั้งระบบช่วยภารกิจ

ขณะที่ ร.ต.อ.รณเดช​ เตชะเกรียงไกร​ หน่วยวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ​ สังกัดสืบสวนภาค​ 4​ เปิดเผยกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า​ หุ่นยนต์ที่ใช้ในปฏิบัติการครั้งนี้​ คือ​ "Tactical robot"​ หรือเรียกง่าย​ ๆ​ ว่า​ "รถโรบอต"​ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเองจากการศึกษาข้อมูลของต่างประเทศ

รถโรบอตนี้มีการดัดแปลงมาจากรถไฟฟ้าบังคับของเด็กซึ่งได้ย่อส่วนลงมา​ พร้อมกับการติดตั้งระบบกล้อง​ 2 ตัว ด้านล่างเป็นกล้องคนบังคับ ส่วนด้านบนเป็นกล้องโดม CCTV

ภาพ : ตำรวจภูธรภาค 4

ภาพ : ตำรวจภูธรภาค 4

ภาพ : ตำรวจภูธรภาค 4


นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบมองกลางคืน​ ไฟสปอร์ตไลต์ อุปกรณ์ส่งของ และระบบสื่อสาร​ ที่สามารถสื่อสารได้ผ่านทั้งวิทยุสื่อสารและโทรผ่านอินเทอร์เน็ต​โดยทั้งหมดนี้ใช้งบฯ​ เพียง​ 4,000 บาทเท่านั้น

ผมศึกษาข้อมูลมาต่อเนื่อง​ ก่อนจะเริ่มประดิษฐ์กับคนในทีม​ ใช้เวลาประมาณ​ 2​ เดือนก็เสร็จ​ เอาไปใช้ปฏิบัติภารกิจได้

ด้วยคุณสมบัติที่เพียบพร้อม​ ประกอบกับรูปร่างที่ถูกออกแบบมาให้มีขนาดเล็กประมาณยาว​ 25​​ นิ้ว​ กว้าง​15​ นิ้ว​ สูง​ 10 นิ้ว​ เพื่อตอบสนองต่อการทำงานเชิงยุทธวิธี​ โดยเฉพาะการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง

ภาพ : ตำรวจภูธรภาค 4

ภาพ : ตำรวจภูธรภาค 4

ภาพ : ตำรวจภูธรภาค 4


อย่างไรก็ตาม​ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รถโรบอตได้ลงพื้นที่เป็นหน่วยสนับสนุนในปฏิบัติการจริง​ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยผ่านภารกิจจับกุมชายคลุ้มคลั่งขู่ระเบิดถังแก๊สใน​ จ.ขอนแก่น​ มาแล้ว​ จึงนับว่าเป็นอีกตัวช่วยสำหรับการปฏิบัติภารกิจเชิงยุทธวิธีสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ผมชอบศึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมต่าง​ ๆ​ อยู่แล้ว​ เมื่อนำมาใช้จริงก็ทำให้ได้เห็นจุดอ่อนหรือข้อดีที่จะพัฒนาต่อไปได้​ ดีใจและภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือประชาชนและสนับสนุนทีม

ร.ต.อ.รณเดช​ ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า​ ในอนาคตทีมสืบสวนภาค​ 4​ จะมีการพัฒนาและต่อยอดรถโรบอตและนวัตกรรมต่าง​ ๆ​ ไปเรื่อย​ ๆ​ ซึ่งขณะนี้ทีมสืบสวนภาค​ 4​ มีรถโรบอต​ 2​ คันแล้ว​ นอกจากคันที่ทุกคนเห็นกัน​ ยังมีรถโรบอตคันใหญ่ที่มีการติดตั้งแขนกลและปืนแรงดันสูง​ เพื่อปฏิบัติภารกิจเก็บกู้ระเบิดอีกด้วย 

ภาพ : ตำรวจภูธรภาค 4

ภาพ : ตำรวจภูธรภาค 4

ภาพ : ตำรวจภูธรภาค 4

ตำรวจขอนแก่นจับตาเคสคลุ้มคลั่ง

ขณะที่ พล.ต.ต.นพเก้า ยังเปิดเผยอีกว่า ช่วงที่ผ่านมามีสถิติในวงรอบที่มีการรายงานผู้ก่อเหตุในลักษณะที่เจ้าหน้าที่ต้องออกไประงับเหตุเกือบทุกวันซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาปลายทาง สำหรับต้นทาง คือ การนำผู้ก่อเหตุไปบำบัด แต่กลับพบปัญหาว่า หลังบำบัดรักษา เมื่อส่งตัวกลับบ้าน ส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุจะมาก่อเหตุอีก

ทั้งนี้ ตำรวจภูธรภาค 4 ได้ทำโครงการสำรวจบุคคลวิกลจริตที่เกิดจากการใช้ยาใน จ.ขอนแก่น 2 ปี พบ 2,500 คน จึงได้จัดระดับความรุนแรงในการก่อเหตุโดยแบ่งเป็น 3 สี ได้แก่ สีเขียว อยู่ในความสงบ สีเหลือง เคยมีพฤติกรรมบ้าง และ สีแดง ก่อเหตุในลักษณะรุนแรง  พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ อสม. และฝ่ายสาธารณสุขลงไปตรวจเยี่ยมและตรวจตราว่ามีลักษณะจะก่อเหตุพฤติกรรมรุนแรงหรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาต้นทางต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระทึก! คนเก็บของเก่าถือระเบิดจับหญิงสาวเป็นตัวประกัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง