"จิราพร" ย้ำปม "เหมืองทองอัครา" ถาม "ประยุทธ์" จะทำอย่างไร หากไทยแพ้คดี

การเมือง
21 ก.ค. 65
13:52
249
Logo Thai PBS
"จิราพร" ย้ำปม "เหมืองทองอัครา" ถาม "ประยุทธ์" จะทำอย่างไร หากไทยแพ้คดี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"จิราพร" อภิปรายย้ำปมปิดเหมืองทองอัครา ชี้ "ประยุทธ์" ไม่เพิกถอนคำสั่ง ม.44 ปิดเหมืองจนสร้างความสียหายบานปลาย ถาม "พล.อ.ประยุทธ์" จะทำอย่างไร หากไทยแพ้คดี คาดความเสียหายเฉียด 1 แสนล้าน

วันนี้ (21 ก.ค.2565) น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีเหมืองทองอัครา แม้ว่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้วหลายครั้ง แต่ล่าสุดอนุญาโตตุลาการเลื่อนการพิจารณาออกไปโดยไม่มีกำหนด ซึ่งความเสียหายยังไม่มีข้อยุติซึ่งส่งผลกระทบให้คนไทยจะต้องแบกรับภาระ 

 

ทั้งนี้ บ.อัครา เริ่มทำกิจการตั้งแต่ปี 2536 ก่อนสมัยรัฐบาลไทยรักไทย และ รัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีปัญหาเอกชนต่างชาติฟ้องร้องเหมือนกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ใช้ คำสั่ง คสช. ม.44 ออกคำสั่งระงับทำเหมืองทั่วประเทศ ซึ่งเป็นคดีแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งมีหน่วยงานภายในประเทศอย่างน้อย 2 หน่วยงาน คัดค้านคำสั่งดังกล่าวโดยอ้างว่า ยังไม่มีหลักฐานที่สรุปได้ว่าการทำเหมืองส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากไม่มีหลักฐานชัดเจน การออกคำสั่งดังกล่าวจะเสี่ยงทำให้ไทยถูกฟ้องร้องได้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้รับฟังเสียงคัดค้านและใช้ ม.44 จนนำมาสู่การถูกฟ้องร้อง

 

เพิกเฉยคำสั่งคัดค้าน ใช้ ม.44 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายหน่วยงานคัดค้านคำสั่งดังกล่าวด้วย ทั้ง จาก ก.อุตสาหกรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด อัยการซึ่งได้มีความเห็นไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ข้อพิพาทมาจากจากคำสั่ง คสช.ที่ 72/2559 เห็นว่า เนื่องจากการกระทำของไทยเข้าข่ายการละเมิดความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หากเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทยมีโอกาสแพ้คดีและมีโอกาสที่จะต้องชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก

 

ดังนั้น หากสามารถใช้การเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาทได้จะเป็นผลดีมากกว่าและเสียหายน้อยกว่า ทั้งนี้ ได้เสนอให้ ครม.พิจารณา แต่ก็ถูกเพิกเฉย โดยให้เหตุว่า ไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องของ บ.คิงส์เกตได้ จนทำให้ บ.คิงส์เกต ฟ้องร้องในวันที่ 2 พ.ย.60 

นอกจากนี้ยังมีบุคคล 2 คน ที่รับคำสั่งโดยตรงจาก พล.อ.ประยุทธ์ นั่งบนโต๊ะเจรจา เพื่อไปครอบงำทำให้คณะกรรมการระงับข้อพิพาทขาดอิสระในการดำเนินการ  

 

ต่อมามีการแสดงความกังวลจากภาคประชาชนสังคมและฝ่ายการเมือง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเพิกเฉยต่อปัญหาการใช้ ม.44 หลังการเลือกตั้ง แม้ทำให้อำนาจการใช้ ม.44 หมดลง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็สามารถใช้อำนาจยกเลิกคำสั่ง คสช.72/2559 ได้ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ม.279 ได้ รวมถึงมีการตักเตือน พล.อ.ประยุทธ์ มาแล้วหลายครั้ง รวมถึงหลังฟังการอภิปรายก็ยังมีโอกาสยับยั้ง บรรเทา ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นด้วยการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว

ตั้งแต่ปี 59- 65 มีการเตือนมา 9 ครั้ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ระงับยับยั้งคำสั่งอย่างทันท่วงที จนอาจต่อให้เกิดความเสียหายหากไทยแพ้คดี

น.ส.จิราพร ยังกล่าวว่า หลังจาก บ.คิงส์เกต ดำเนินการฟ้องแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดก็ยังคงเสนอให้ ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่สนใจคำทัดทานของหน่วยงานต่าง ๆ

คาดค่าเสียหายอาจเฉียด 1 แสนล้าน

น.ส.จิราพร ยังกล่าวว่า ขณะนี้แม้ขณะนี้ยังไม่มีคำชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการ ก็พบว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ดังนี้

1.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับ บ.คิงส์เกต ในช่วงปี 2560 - 2564 จำนวน 731 ล้านบาท

2.ค่าภาคหลวงที่จัดเก็บไม่ได้ตั้งแต่ปี 2560 -ปัจจุบัน ราว 3,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 600 ล้านบาท รวมถึงที่ยังประเมินไม่ได้ คือ ผลกระทบจากบริษัทของพนักงาน ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย ดังนั้น หากไทยแพ้คดีจะเสียหายราว 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 30,000 ล้านบาท

 

รวมถึงค่าชดเชยความเสียหายที่ บ.คิงส์เกต ทำประกันความเสี่ยงทางการเมือง กับ บ.Zurich Australian Insurance Limited กว่า 55 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสามารถมาเรียกเก็บจากไทยได้ในภายหลังหาก บ.คิงส์เกต ชนะคดี ซึ่งยอดรวมอาจสูงกว่า 100,000 ล้านบาท

ไทยเดินหน้าทำตามข้อเรียกร้อง บ.คิงส์เกต 

น.ส.จิราพร ยังกล่าวว่า หลังการเจรจามีข้อมูลจากที่ปรึกษาฝ่ายไทย โดยให้ไทยและอนุญาโตตุลาการทำแบบจำลองความสียหายโดยแบ่งเป็น 2 กรณี 1.บ.อัคราไม่ดำเนินการต่อ และ 2.บ.อัคราดำเนินการต่อ ซึ่งไม่ว่าจะทางใดก็ต้องชดเชยความเสียหาย

จึงนำไปสู่การเจรจาระหว่างไทยและ บ.คิงส์เกต ในช่วงปี 2560 ในช่วงที่ยังไม่มีการฟ้องร้อง และต่อมาเมื่อเข้าสู่ชั้นอนุญาโตตุลาการ ทั้ง 2 ฝ่ายได้ขอให้อนุญาโตตุลาการเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปเพื่อเจรจาโดยข้อเรียกร้องทั้ง 2 ช่วงในปี 2560 และ 2564 มีความคล้ายกัน ซึ่งครั้งแรกมีการปัดตกไป และจะช่วยให้ บ.คิงส์เกต ไม่ต้องฟ้องร้องไทยได้ แต่ก็ไม่ได้ทำและไปสู่การฟ้องร้องคดีในที่สุด และก็นำมาสู่การเจรจากับ บ.อัครา อีกครั้ง

 

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องบางส่วนรัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว เช่น วันที่ 3 พ.ย.2563 บ.อัครา ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ 44 แปลง เนื้อที่กว่า 397,226 ไร่ จากเดิมได้รับราว 3,000 ไร่ รวมถึงมีใบคำขอจาก บ.คิงส์เกต อีกว่า 600,000 ไร่ หรือ รวมกว่า 100,000 ไร่

สถานการณ์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มอง บ.คิงส์เกต เป็นเหมือง ขณะที่ บ.คิงส์เกต มอง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหมู เพราะ บ.คิงศ์เกต กำลังไล่ต้อน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะจะต่อรองอะไรก็ได้ทั้งหมด 

ทั้งนี้ หลังการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐบาลไทย ทางทนายของ บ.คิงส์เกต ได้ส่งอีเมล์แจ้งไปยังคณะอนุญาโตุลาการให้ทราบด้วย ซึ่งมองว่า อีเมล์ฉบับนี้ทำให้มีข้อสังเกตว่า การให้สิทธิ์สำรวจและต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองดังกล่าวเป็นการให้ตามปกติ ไม่เกี่ยวกับการเจรจา ประนีประนอมยอมความกับ  บ.คิงส์เกต ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ อ้างมาตลอด ดังนั้นเหตุใดข้อเรียกร้องของ บ.คิงส์เกต จึงไปปรากฏในอีเมลที่ทนาย บ.คิงส์เกต ส่งไปยังคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

ดังนั้น การที่ไทยดำเนินการตามข้อเรียกร้อง ทำอะไรไปแล้วก็มีจดหมายแจ้งไปยังอนุญาโตตุลาการเช่นกัน เพื่อให้คิงส์เกตถอนการเคลมค่าเสียหายแต่ละรายการออกไป การที่ทางการไทยดำเนินการตามข้อเรียกร้องของคิงส์เกต ก็เป็นการเอาทรัพย์สิน สมบัติประเทศ ไปชดเชยค่าเสียหายเพื่อให้ไม่ต้องจ่ายเป็นตัวเงิน แลกกับการถอนฟ้องเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องชดใช้ความผิดในคดีนี้ใช่หรือไม่

น.ส.จิราพรกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายกระทำผิดรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายการขัดกันของผลประโยชน์ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้บริหารได้ทำให้ประเทศชาติเสียหายได้รับจึงเป็นผู้ได้รับประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมจากการนำงบประมาณไปสู้คดี นำผืนแผ่นไปแลกกับ บ.คิงส์เกตจากการใช้ ม.44 และการเจรจาต่อรองที่มากกว่าข้อพิพาท จึงอาจผิดกฎหมายคอรัปชันระหว่างประเทศ

จับตา "คิงส์เกต" เจรจาหวังไทยถอนฟ้องคดี 

น.ส.จิาพร ยังกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องอีกหลายประการที่ไม่สามารถดำเนินการได้เช่น การขอให้ไทยยกเลิกปัญหาข้อกฎหมายท้องถิ่นที่ค้างอยู่ทั้งหมด เมื่อไปเทียบเคียงกับข้อเรียกร้อง บ.คิงส์เกต เมื่อปี 2560 จะพบว่า ปัญหาที่ บ.คิงส์เกตหมายถึงคือ 1.การให้ ป.ป.ช.ยุติการสืบสวน บ.อัคราจำนวน 2 คดี 2.ให้ยุติคดีของดีเอสไอจำนวน 3 คดี 3.ให้ยุติการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่ศาลแพ่งต่อ บ.อัครา

 

4.ให้ยุติคดีของ ปปง.เรื่องการคิดค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปจากการทำเหมืองในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับการอนุญาต 5.ให้ยุติคดีของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ หากไทยยอมทำตามข้อเรียกร้องเท่ากับทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม

คำถามคือ ข้อเรียกร้องทั้ง 11 ข้อ ของ บ.คิงส์เกต มีแต่ บ.คิงส์เกตได้ประโยชน์ แล้วสรุปว่าไทยไปเจรจากับเขา แล้วเราได้อะไรกลับมา

น.ส.จิราพรกล่าวว่า เดิม บ.อัคราทำธุรกิจ บนพื้นที่ไม่กี่ไร่ แต่จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลุแกอำนาจ ตัดสินใจใช้ ม.44 จนทำให้เกิดข้อเรียกร้องมากมาย เป็นความเสียหายของประเทศที่บานปลาย เนื่องจากไม่ได้ระงับยับยั้งอย่างทันท่วงทีตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด

ถาม "พล.อ.ประยุทธ์" จะทำอย่างไร หากไทยแพ้คดี

สรุปแล้วหากไทยแพ้คดี พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมการไว้อย่างไร จะจ่ายเป็นเงินหรือทองคำ หรือจะใช้วิธีเอาสมบัติของแผ่นดินไปแลก ตามข้อเรียกร้องของ บ.คิงส์เกต เพื่อไม่ต้องจ่ายคดีเป็นตัวเงิน และถ้าเช่นนั้นไทยต้องดำเนินตามทั้ง 11 ข้อรวมถึงล้มคดีด้วยหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร และหาก พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า แก้ปัญหาที่รัฐบาลที่ผ่านมาทำไว้และแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพได้จริง ดิฉันขอท้าให้ไปแถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า การใช้ ม.44 ปิดเหมืองเป็นผลงานของรัฐบาล

น.ส.จิราพรยังกล่าวว่า หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะยื่นหลักฐานต่อ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป รวมถึง ครม.ที่รับทราบถึงประเด็นปัญหาเรื่องเหมืองทองอัครามาตลอด 3 ปี แล้วยังตัดสินใจไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ได้อยู่ต่อ ซึ่งก็จะถือว่า ครม.เป็นผู้สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำความผิด และในสัปดาห์หน้า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงนั่งเป็นประธานในการประชุมใน ครม.ก็จะยื่นฟ้อง ครม.ทั้งคณะด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง