เล็งใช้เชื้อ "ฝีดาษลิง" ชาวไนจีเรีย ทดสอบภูมิคนปลูกฝีในไทย

สังคม
25 ก.ค. 65
16:02
340
Logo Thai PBS
เล็งใช้เชื้อ "ฝีดาษลิง" ชาวไนจีเรีย ทดสอบภูมิคนปลูกฝีในไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้กลุ่มเสี่ยงสูง 27 คนเชื่อมโยงชาวไนจีเรียป่วย "ฝีดาษลิง" ผลลบแต่สิ่งส่งตรวจ เช่น ลูกบิดประตู ผ้าปูที่นอนผลบวก ไม่ชัดว่าจะแพร่เชื้อต่อได้หรือไม่ เล็งเพาะเชื้อจากแผลชาวไนจีเรียทดสอบภูมิคุ้มกันคนไทยปลูกฝีดาษว่าป้องกันได้หรือไม่

วันนี้ (25 ก.ค.2565) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ความคืบหน้าการตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ในกลุ่มเสี่ยงสูง 27 คนที่มีความเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อชาวไนจีเรีย โดยผลตรวจ 27 คนออกมาเป็นลบ

ส่วนการตรวจสิ่งแวดล้อม เช่น ลูกบิดประตู ผ้าปูที่นอน พบผลเป็นบวก แต่ยังบอกไม่ได้ว่า ที่เจอบวกนั้นสามารถแพร่เชื่อต่อได้หรือไม่

การติดเชื้อต้องมีความใกล้ชิดกันมาก ๆ ส่วนการสัมผัสต่าง ๆ นั้น โดยปกติ ผิวหนังคนเราจะมีมาตรการป้องกันเชื้อเข้าสู่ร่างกายอยู่แล้ว ยกเว้นว่าบริเวณผิวหนังมีบาดแผล แต่มาตรการใช้ป้องกันโรคโควิด-19 นั้น สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ ทั้งการล้างมือด้วยสบู่ และสเปรย์แอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง

ทดสอบเชื้อฝีดาษลิงชาวไนจีเรีย-เทียบคนปลูกฝีในไทย

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีการนำตัวอย่างเชื้อที่เก็บจากแผลของผู้ติดเชื้อรายแรกในไทย มาทำการเพาะเชื้อเพิ่มปริมาณ ก่อนนำไปทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนไทยที่เคยปลูกฝีดาษไปก่อนหน้านี้ว่าสามารถป้องกัน หรือทำลายเชื้อฝีดาษลิงได้หรือไม่

เบื้องต้นเชื้อไม่ค่อยขึ้น ขึ้นช้า จึงต้องรอเวลาอีกสักระยะหนึ่ง หากมีความคืบหน้ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่มีผู้ออกมาให้ข้อมูลว่าบางสายพันธุ์ของโรคฝีดาษลิง สามารถแพร่เชื้อทางอากาศได้ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องฟังหูไว้หู ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการแพร่เชื้อทางอากาศ แม้แต่โควิด-19 ที่ก่อนหน้านี้ออกมาบอกว่ามีการแพร่ทางอากาศ แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งโควิดเป็น RNA ซึ่งมีขนาดเล็กมากด้วยซ้ำ ส่วนเชื้อฝีดาษวานร เป็น DNA ไวรัส มีขนาดใหญ่กว่าโอกาสกลายพันธุ์จะไม่เร็ว

ภาพ: เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

ภาพ: เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

ภาพ: เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

สรุปอาการ "ฝีดาษลิง"จาก 16 ประเทศทั่วโลก 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า สรุปอาการของฝีดาษลิงจาก 16 ประเทศทั่วโลก ซึ่ง Thornhill JP และคณะ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาอาการฝีดาษลิง ในผู้ป่วย 528 คนจาก 16 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่เม.ย.-มิ.ย.ที่ที่ผ่านมา ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับโลก New England Journal of Medicine ล่าสุด เมื่อ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา 

สาระสำคัญ คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกย์ และไบเซ็กชวล มีเพศสัมพันธ์กับทั้งเพศชายและเพศหญิง มีถึง 41% ที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ด้วย อายุเฉลี่ย (ค่ามัธยฐาน) 38 ปี (วัยทำงาน) 95% มีประวัติที่คาดว่าติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ 95%

จะเกิดผื่นตามผิวหนังหลังจากติดเชื้อฝีดาษลิง โดยผื่นจะพบบริเวณทวารหนักหรืออวัยวะเพศราวสามในสี่ (73%) อาการผิดปกติอื่นๆ ที่พบบ่อยก่อนเกิดผื่นคือไข้ (62%) ต่อมน้ำเหลืองโต (56%)  อ่อน เพลีย (41%) ปวดกล้ามเนื้อ (31%) ปวดหัว (27%) พบว่า 1 ใน 3 หรือ 29% ที่พบว่าติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นร่วมด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส เริม

ภาพ: เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

ภาพ: เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

ภาพ: เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

ระยะฟักตัวเฉลี่ย 7 วันเป็นได้ตั้งแต่วันที่ 3-20 วัน

นอกจากนี้นพ.ธีระ ยังระบุว่า ระยะเวลาฟักตัวฝีดาษลิง ตั้งแต่เริ่มติดเชื้อจนถึงเริ่มเกิดอาการป่วย เฉลี่ย 7 วัน โดยเป็นได้ตั้งแต่ 3-20 วัน ที่สำคัญคือ จากการตรวจน้ำอสุจิ 32 คน สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิงได้ถึง 29 คน สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสในลำคอ และจมูก ได้ถึง 1 ใน 4 (26%) และยังตรวจพบในเลือดและปัสสาวะได้ในบางคน

ฝีดาษลิง ได้รับการประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยองค์การอนามัยโลก ประชาชนจึงจำเป็นต้องมีความรู้ ติดตามสถานการณ์ เพื่อให้รู้เท่าทัน และป้องกันตัวให้ห่างไกลจากฝีดาษลิง ระมัดระวังการสัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานด้านบริการ ดูแลรักษา รวมถึงแหล่งบันเทิงท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทางเพศด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเดินทางระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยวเสรี โอกาสมีการติดเชื้อแฝงในชุมชน และแพร่ระบาดย่อมมีสูง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผลตรวจเป็นลบ 19 ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ชายไนจีเรียป่วยฝีดาษลิง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง