สปสช.แจงปมส่งยาฟาวิฯ ช้า ผู้ป่วยโควิดรับบริการระบบ 1330 พุ่ง

สังคม
29 ก.ค. 65
15:27
273
Logo Thai PBS
 สปสช.แจงปมส่งยาฟาวิฯ ช้า ผู้ป่วยโควิดรับบริการระบบ 1330 พุ่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สปสช. แจงผู้ป่วยโควิดขอรับบริการผ่านสายด่วน 1330 ยังไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากผู้ป่วยที่ต้องรับยามีจำนวนมาก ทำให้บางส่วนได้รับยาช้า เผยจัดส่งเฉลี่ยวันละเกือบ 400 ราย ขอให้เข้าใจเป็นเพียงบริการเสริม ย้ำจะเร่งจัดส่งยาให้ผู้ป่วยเร็วที่สุด

วันนี้ (29 ก.ค.2565) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโฆษก สปสช. เปิดเผยว่า ตามที่ สปสช. ได้ดำเนินการจัดระบบสายด่วน สปสช.1330 เพื่อเป็นบริการเสริมที่สนับสนุนหน่วยบริการในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบบริการ ทั้งในกลุ่ม 608 และไม่ใช่ 608 

จากการเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่ามีประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 โทรเข้าสู่ระบบเพื่อขอรับบริการจำนวนมาก มีผู้ป่วยโควิดส่วนหนึ่งจำเป็นต้องไปรับยาฟาวิพิราเวียร์ นอกจากการนำส่งยาโดย บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด (ปณท.ดบ.) ที่ได้รับการสนับสนุนค่าจัดส่งจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว สปสช. ได้จัดรถร่วมนำส่งเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาโดยเร็วที่สุด 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. - 28 ก.ค. 65  มีการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยโควิดแล้ว 2,233 คน หรือเฉลี่ย 372 คนต่อวัน รวมเป็นยาฟาวิพิราเวียร์ 116,192 เม็ด แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับยาฟาวิพิราเวียร์มีเป็นจำนวนมากและกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งใน กทม.และปริมณฑล

อีกทั้งสายด่วน สปสช. 1330 เป็นระบบบริการเฉพาะกิจที่ สปสช.เข้ามาช่วยเสริมกำลังหน่วยบริการ ความพร้อมจึงอาจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ว่าทั้ง สปสช. และ ปณท.ดบ โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจัดส่งยาจาก ธกส. จะเร่งส่งยาให้กับผู้ป่วยอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถจัดส่งยาให้ผู้ป่วยได้ทัน ทำให้ยังมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งได้รับยาล่าช้า ซึ่ง สปสช.จะรีบจัดส่งยาเพิ่มเติมให้กับผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับยาตามลำดับรายชื่อให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ นอกจากบริการผ่านระบบสายด่วน สปสช. 1330 แล้ว ผู้ป่วยโควิดยังสามารถรับบริการในช่องทางหลัก 3 ช่องทาง ดังนี้

1. บริการที่คลินิก/โรงพยาบาล ตามสิทธิสุขภาพของตัวเอง

2. รับบริการแบบ Telemedicine ซึ่งทีมผู้ให้บริการ Telemedicine จะทำการคัดกรองเบื้องต้น หากไม่มีอาการ จะจ่ายยาแล้วติดตามอาการภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้ามีอาการ ผู้ให้บริการ Telehealth จะประสานส่งต่อคลินิก/โรงพยาบาลเพื่อดูแลตามแต่ละการจัดการของโรงพยาบาล

3. บริการที่ร้านยา ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว สิทธิบัตรทองและสิทธิประกันสังคม โดยรับยารักษาตามอาการ-คำแนะนำการใช้ยา (ครอบคลุมทั่วประเทศ)

ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ (ไอดี @nhso) และเฟซบุ๊ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง