เทศบาลดอยสะเก็ดผุด "เสาไฟฟ้าบาร์โค้ด" แก้ปัญหาชุมชน

ภูมิภาค
1 ส.ค. 65
09:33
360
Logo Thai PBS
เทศบาลดอยสะเก็ดผุด "เสาไฟฟ้าบาร์โค้ด" แก้ปัญหาชุมชน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การเลือกตั้งเทศบาลทั่วประเทศที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2564 ผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว เราไปดูที่เทศบาลตำบลดอยสะเก็ด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ว่าผู้บริหารชุดใหม่ได้ดำเนินโครงการอะไรให้กับประชาชนไปแล้วบ้าง เป็นไปตามที่หาเสียงไว้หรือไม่

"บาร์โค้ด" ที่ติดตามเสาไฟฟ้าทุกต้นในพื้นที่ ต.ดอยสะเก็ด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้โทรศัพท์สแกน เพื่อแจ้งเหตุไฟขัดข้อง รวมถึงกรณีเกิดไฟไหม้ โดยไม่ต้องเดินทางไปแจ้งเรื่องที่เทศบาล เป็นหนึ่งในโครงการที่ผู้บริหารเทศบาลชุดใหม่ หลังได้รับเลือกมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตามที่หาเสียงไว้กับประชาชน

 

นายนพดล รัฐศุภางค์ รองนายกเทศมนตรีตำบลดอยสะเก็ด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ระบุว่า โครงการเสาไฟฟ้าบาร์โค้ด เกิดขึ้นจากแนวคิดเรื่องการใช้เทคโนโลยี เข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยเฉพาะปัญหาไฟฟ้าดับบ่อย เมื่อชาวบ้านสแกน และส่งเรื่อง ข้อมูลจะถูกไปที่เทศบาลฯ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการ ซึ่งรวดเร็ว และลดขั้นตอนได้มาก ที่สำคัญโครงการนี้ใช้งบประมาณเพียง 8,000 บาทเท่านั้น สำหรับติดบาร์โค้ดเสาไฟฟ้า 763 ต้น ทั่วทั้ง ต.ดอยสะเก็ด

 

ขณะที่ประชาชนหลายคนบอกว่า การมีระบบนี้ มีประโยชน์กับชาวบ้าน เพราะสามารถแจ้งเหตุได้อย่างรวดเร็ว จากการทดลองใช้มีการซ่อมไฟรวดเร็วขึ้น และในอนาคตอยากให้พัฒนาแจ้งเหตุอื่นๆ เพิ่มเติมได้ด้วย เช่น รับแจ้งเรื่อง ขยะ, น้ำท่วม รวมถึงภัยอาชญากรรมต่างๆ ในชุมชน

 

เทศบาลตำบลดอยสะเก็ด มี 5 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 5,700 คน แต่ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 20 ซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว เทศบาลฯ จึงจัดตั้งโรงเรียนชราบาล เพื่อให้กลุ่มผู้สูงอายุร่วมกิจกรรม ไม่เหงา รวมถึงการดูแลเรื่องสุขภาพ และให้ความรู้ในการใช้ชีวิต

 

สำหรับเทศบาลตำบลดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ มีงบประมาณในการบริหารจัดการปีนี้ 53 ล้านบาท ซึ่งโครงการในอนาคตนอกจากพัฒนาโครงการเสาไฟฟ้าบาร์โค้ด ให้สามารถแจ้งเรื่องร้องทุกข์ความเดือดร้อนอื่นๆ เพิ่ม เช่น ถนนพัง, น้ำท่วม, ท่อตัน หรือปัญหาขยะแล้ว จะดำเนินตามโครงการอื่นๆ ที่หาเสียงไว้กับประชาชน ภายใต้ชื่อ นโยบาย 4 ดี คือ โครงสร้างพื้นที่ดี, สังคมที่ดี, เศรษฐกิจดี และสาธารณสุขที่ดี

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง