บทวิเคราะห์ : 10 ส.ค.ชี้ชะตา กม.เลือกตั้งส.ส.

การเมือง
5 ส.ค. 65
14:35
124
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : 10 ส.ค.ชี้ชะตา กม.เลือกตั้งส.ส.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เมื่อองค์ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ไม่ครบ ไปต่อไม่ได้ ผลพวงประการหนึ่งที่เป็นห่วงกัน คือหวั่นเกรงว่าจะมีผลต่อการพิจารณากฎหมายลูกที่ยังค้างอยู่ 1 ฉบับ คือร่างแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งส.ส. ที่มีกรอบเวลาพิจารณาต้องให้แล้วเสร็จไม่เกิน 15 ส.ค.2565 และยังเป็นการสะท้อนให้เห็นการเล่นเกมการเมืองอย่างเด่นชัดของสมาชิกรัฐสภา คือ 2 สภารวมกัน

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ฟันธงคนแรกว่า เป็นผลจากการจับมือร่วมกัน หรือ “ฮั้ว” ของรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เล่นเกมเตะถ่วงกฎหมายลูก หวังกลับไปใช้สูตรหาร 100 สำหรับวิธีคิดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ สอดคล้องกับนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ฟันธงเช่นกันว่า เป็นความตั้งใจของฝ่ายการเมืองที่จะให้องค์ประชุมรัฐสภาไม่ครบ เพื่อหวังผลเรื่องการพิจารณากฎหมายลูกว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส.

ก่อนหน้านี้ มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นทั้งจากคนวงในการเมือง และวงนอกที่สนใจการเมือง เรื่องการเปลี่ยนแปลงไปมาของสูตรคิดหาจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคการเมือง

เดิมทีต้นร่างจากกกต.หารด้วย 100 ถึงชั้นกรรมาธิการก็หารด้วย 100 แต่พอไปถึงชั้นวาระที่ 2 กลับเทคะแนนเสียงไปโหวตให้หารด้วย 500 ย้อนแย้งกับจุดยืนเดิมเพียงชั่วข้ามคืน แต่หลังจากนั้น เมื่อคิดคำนวณแล้ว คิดว่าไม่ได้ประโยชน์จากหาร 500 ก็ส่งสัญญาณให้กลับไปหารด้วย 100 อีก

คล้ายเป็นการตอกย้ำว่า ผู้ทรงเกียรติทั้งหลายในสภา มุ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเมืองที่ตนและพวกพ้องจะได้รับเป็นสำคัญ โดยไม่สนใจว่า จะโดนด่าโดนวิจารณ์ว่า โลเลเปลี่ยนใจไปมา ทั้งที่เป็นการกระทำและการตัดสินใจของตนเอง

ความจริง การพิจารณากฎหมายลูกฉบับนี้ ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ส.ค. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้แสดงความเป็นห่วงตั้งแต่ต้น เกรงจะพิจารณาไม่ทัน จึงได้แนะนำให้วิป 3 ฝ่ายไปเจรจาหาทางออกว่า จะเลื่อนการพิจารณาขึ้นมาเป็นร่างกฎหมายฉบับแรกหรือไม่ จากเดิมที่อยู่ในคิวที่ 3

แต่ในการหารือวันที่ 1 ส.ค. ก่อนจะเริ่มประชุมรัฐสภา วันที่ 2-3 ส.ค.2565 ปรากฏว่า วิป 3 ฝ่ายเห็นพ้องไม่ต้องเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน ให้เป็นตามคิวเดิม สะท้อนเค้าลางความผิดปกติขึ้นตั้งแต่วันนั้น

จากนั้นในการประชุมร่วมวันที่ 2-3 สิงหาคม ได้เกิดปรากฏการณ์อีก เป็นเรือเกลือเกิดขึ้น การประชุมเป็นไปอย่างล่าช้าผิดวิสัย ทั้งในระหว่างการพิจารณากฎหมาย 2 ฉบับที่อยู่ในคิวก่อนหน้ากฎหมายลูกว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. ก็ต้องคอยตรวจสอบองค์ประชุมอยู่ตลอดเวลาว่าครบหรือไม่

ก่อนจะมาหนักหน่วงในวันที่ 3 ส.ค. การประชุมพิจารณาร่างกฎหมายระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ....... ครึ่งค่อนวัน พิจารณาได้แค่ถึงมาตรา 8 ขณะที่ในห้องประชุมรัฐสภา ผู้ร่วมประชุมโหรงเหรงบางตา โดยเฉพาะ 2 พรรคการเมืองใหญ่ต่างขั้ว

ขณะที่นายชวน พยายามใจเย็นกดออดรออย่างยาวนานหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ยังไม่ครบอยู่ดี ทั้งยังมีข่าววงในว่า มีการส่งสัญญาณให้ ส.ส.และ ส.ว.บางส่วนออกจากห้องประชุม เพื่อหวังให้เกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ แต่สุดท้าย ก็ต้องสั่งปิดประชุมรัฐสภาเมื่อ 17.00 น.กว่าๆ

ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์เรื่องเกมการเมือง หวังยื้อให้มีผลต่อการพิจารณากฎหมายลูก แม้แต่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังต้องยืดอกยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยหวังยื้อเวลาให้การพิจารณากฎหมายลูกฉบับนี้ ออกไปหลัง 15 ส.ค. ซึ่งจะมีผลคือต้องนำร่างกฎหมาย ที่เป็นต้นร่างที่ผ่านวาระรับหลักการของรัฐสภา ที่หารด้วย 100 กลับมาใช้แทน

ล่าสุดพบว่า การประชุมร่วม 2 สภา ก่อนถึงวันที่ 15 ส.ค.2565 จะเหลือการประชุมร่วมอีกแค่ 2 วัน คือ 10-11 ส.ค.แต่มีข่าววงในว่า วุฒิสภามีภารกิจสำคัญต้องเรียกประชุมเฉพาะ ส.ว.ด้วย ทำให้ทางเลือกเรื่องนี้ตีบตัน คงเหลือวันประชุมร่วมจริง ๆ แค่ 10 ส.ค.วันเดียว

กฎหมายลูกว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. ถึงขณะนี้ มีอยู่เพียง 3 แนวทางเลือก ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละสภาผู้ทรงเกียรติจะเลือกแบบไหน 1.ตีตก คว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ ในวาระที่ 3 เท่ากับต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ และไม่รู้ว่าจะทำทันเลือกตั้งหรือไม่ หรืออาจมีปัจจัยอื่นแทรกแซงสกัดกั้นจนทำอะไรไม่ได้อีก รวมถึงสุดท้ายอาจจะออกเป็นพระราชกำหนดโดยฝ่ายบริหารก็ได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิด “ทัวร์ลง” เพราะจะถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายรัฐบาล

2.โหวตผ่านในวาระ 3 แล้วไปลุ้นต่อว่า ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และกกต.จะทำเรื่องย้อนแย้งกลับมาเพื่อให้รัฐสภาแก้ไขหรือไม่ และ 3.หนทางสุดท้าย เพื่อความชัวร์ คือยื้อเวลาให้เกิน 180 วัน เพื่อนำร่างเดิมที่ผ่านรัฐสภามาบังคับใช้ ซึ่งวิธีนี้ อาจต้องเจอกับเสียงวิจารณ์ของประชาชนในเชิงลบไม่น้อย เพราะเท่ากับเสียทั้งเวลาในการพิจารณา และเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของรัฐสภาตลอด 6-7 เดือนที่ผ่านมาแบบเปล่าประโยชน์

จะออกทางไหน 10 ส.ค.ได้รู้กัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง