นักศึกษาด้านการเกษตรมีแนวโน้มลดจำนวนลง

ภูมิภาค
5 ส.ค. 65
15:27
524
Logo Thai PBS
นักศึกษาด้านการเกษตรมีแนวโน้มลดจำนวนลง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลายฝ่ายมองว่าอาจส่งผลต่อระบบการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาและความมั่นคงทางอาหารของประเทศในอนาคต ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาต่างจัดหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และจูงใจให้นักศึกษากลับมาเรียนด้านวิชาชีพเกษตรมากขึ้น

โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบอุโมงค์ลม หรือ ระบบปิด เป็นหนึ่งในนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่นายสุรศักดิ์ เทียบรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตร และเทคโนโลยีเชียงใหม่ ใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอนนักศึกษา เนื่องจากใช้แรงงานน้อย ควบคุมอุณหภูมิ และแสงสว่างได้ ป้องกันโรคระบาด เพิ่มจำนวนการเลี้ยงไก่ได้มากว่าปกติหนึ่งเท่าตัว เจริญเติบโตดีขึ้น อัตราการตายต่ำ ป้องกันแมลง และศัตรู 

 

นอกจากนั้นการยังมีหลักสูตรที่ใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ อาทิ การใช้โดรนในการให้ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืชในแปลงเกษตร การควบคุมการให้น้ำ และปุ๋ย พืชในโรงเรือนด้วยระบบ IOT ที่สามารถควบคุมการรดน้ำ และการให้ปุ๋ย ให้ตรงตามความต้องการของพืช และเป็นการปลูกพืช โดยใช้พื้นที่ และแรงงานน้อยแต่ได้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพ นับเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ที่สถาบันการศึกษาแห่งนี้ ที่นำมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักเรียน ที่เรียนจบในระดับมัธยมศึกษา หันมาเรียนด้านการเกษตรมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมา จำนวนนักศึกษาลดลงร้อยละ 10 ติดต่อกันมาหลายปี ส่วนสาเหตุที่มีนักศึกษามีจำนวนลดลงน่าจะมาจาก จำนวนประชากรเด็กที่ลดลง แผนการเรียน และสถานศึกษาความหลากหลายมีตัวเลือกมากขึ้น ทัศนคติของผู้เรียน และผู้ปกครองที่กลัวว่าจะลำบาก

 

ขณะที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน ที่ทำการเรียนการสอนในระดับ ปวช. และ ปวส.ก็ประสบปัญหาจำนวนนักเรียนลดลง โดยเฉพาะ ระดับ ปวช.ที่ลดลงถึงร้อยละ 12 ทำให้ผู้บริหารสถาบันการศึกษาแห่งนี้ต้องเร่งปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้เป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น

 

จุฬาลักษณ์ โคบายาชิ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน ระบุว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน เป็น1 ใน 5 วิทยาลัยเกษตรของประเทศ ที่มีการเรียนการสอนสาขาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ที่สอนนักศึกษาให้เป็นนวัตกร เพื่อคิดโครงงานวิทยาศาสตร์ และวิจัยผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ แต่จำนวนนักศึกษาที่มีแนวโน้มลดลง ก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องหาแนวทางในการสร้างความสนใจให้มีผู้มาเรียนเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่ นายชยวินย์ ใจคำ นศ.วิทยาลัยเกษตร และเทคโนโลยีลำพูน และ นายนิรวิทย์ แก้วดำเรือง นศ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ บอกว่า ก่อนมาเรียนได้วางแผนอนาคต เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ และเชื่อมั่นว่าจะมีอนาคตที่ดี แต่ยังมีเพื่อนจำนวนมากที่ไปเรียนสายสามัญเนื่องจากต้องการทำงานและประกอบอาชีพด้านอื่น

 

ภาคเกษตรกรรม คือ แหล่งอาหารของประเทศ การลดลงของนักศึกษาด้านการเกษตรอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต ล่าสุด รมต.กระทรวงศึกษาธิการ แสดงความเป็นห่วงจำนวนผู้เรียนในหลายวิทยาลัยเกษตรที่ลดจำนวนลง และได้หารือกับผู้บริหารส่วนกลางว่า ในภาคการเกษตรขอให้เน้นเรื่อง Smart Farming มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้เด็กเห็นว่าการเกษตรสมัยใหม่ไม่ได้ไปตรากตรำเหมือนในอดีต ให้ผลผลิตมาก ใช้เงินน้อย ต้นทุนต่ำ และยังได้สร้างเครือข่ายวิทยาลัยเกษตรอื่น ที่มีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง