บทวิเคราะห์ : วันกำนันผู้ใหญ่บ้านกับวันประชุมร่วมรัฐสภา

การเมือง
9 ส.ค. 65
15:18
420
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : วันกำนันผู้ใหญ่บ้านกับวันประชุมร่วมรัฐสภา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

10 สิงหาคม 2565 วันนัดประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายลูก ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะเป็นกติกาส่วนหนึ่งที่ต้องใช้ในการเลือกตั้งส.ส.ครั้งต่อไป

ถือเป็นวันสำคัญและวันชี้ชะตาว่า ร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ จะไปต่ออย่างไร 1.ถูกตีตก โดนคว่ำร่างในวาระที่ 3 ซึ่งจะนำไปสู่การร่างใหม่ หากไม่ทัน ก็อาจใช้ทางออกโดนทำเป็นพระราชกำหนดหรือ พ.ร.ก. 2.พิจารณาต่อให้แล้วเสร็จ โหวตเห็นชอบในวาระ 3

จากนั้นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาและกกต.พิจารณา อาจเห็นย้อนแย้งหรืออาจเห็นตามก็ได้ ซึ่งหากไม่มีความเห็นแย้ง ก็เท่ากับต้องหารด้วย 500 และ 3.ยื้อไม่ให้พิจารณาแล้วเสร็จภายใน 15 ส.ค. จะทำให้ต้องกลับไปนำร่างที่ผ่านวาระรับหลักการของที่ประชุมรัฐสภาใช้ ซึ่งหมายถึงต้องหารด้วย 100

ทั้ง 3 แนวทางถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะมีกำหนดไว้ในทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ที่กำลังเป็นประเด็น เพราะฝ่ายที่พยายามจะยื้อไม่ให้พิจารณาให้เสร็จภายใน 15 ส.ค. นำโดย 2 พรรคใหญ่ พรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้ง ส.ว.บางส่วนในสายผู้มีบารมีทางการเมืองคนหนึ่ง กำลังโดนจัดหนัก

สาเหตุแรกคือ ทำให้เสียเวลาเปล่าในช่วง 180 วันหรือ 6 เดือนที่ผ่านมา และยังทำให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดิน สำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการประชุมรัฐสภา แต่ไม่ได้อะไรเลย เพราะต้องกลับไปเอาร่างเดิม

สาเหตุที่ 2 คือวิธีการที่ใช้ไม่เหมาะสมอย่างที่ควรจะเป็น ตั้งแต่ทำให้องค์ประชุมรัฐสภาล่มตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. เพื่อยื้อร่างกฎหมายฉบับที่ 2 ก่อนถึงคิวร่างกฎหมายลูกว่าด้วยเลือกตั้งออกไป หวังให้การพิจารณากฎหมายลูกไม่แล้วเสร็จตามกำหนด เพราะเหลืออีกแค่วันเดียวคือ 10 ส.ค. มิหนำซ้ำบางพรรคยังมีโทรศัพท์ปริศนา แจ้งแบบรายตัวไม่ต้องไปร่วมประชุมวันดังกล่าว

ความจริงมีผู้สันทัดกรณี หรือกูรูหลายคนวิเคราะห์ว่า ถ้าจะประชุมกันจริง ๆ จัง ๆ ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่ค้างอยู่ น่าจะแล้วเสร็จทัน โหวตในวาระที่ 3 ได้ จึงมีวิธีการเสริมเพื่อตัดโอกาสและตัดปัญหาว่า จะลุ้นทันหรือไม่ทัน คือการทำให้องค์ประชุมรัฐสภาไม่ครบ โดยการแจ้งประสานไม่ให้สมาชิกในสังกัดไปร่วมประชุมหรือแสดงตนในวันที่ 10 ส.ค.

ซึ่งบังเอิญไปสอดคล้องกับคำพูดของนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ประธานวิปรัฐบาลคนปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์กับสื่อ แสดงความไม่แน่ใจว่า จะมีส.ส.เข้าร่วมประชุมวันที่ 10 ส.ค. แค่ไหนอย่างไร เนื่องจากตรงกับวันกำนันผู้ใหญ่บ้านพอดี ส.ส.บางส่วนต้องลงพื้นที่ไปร่วมงาน จึงไม่สะดวกจะไปร่วมประชุมรัฐสภา

“วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน” 10 ส.ค. ถือเป็นวันสำคัญ ที่เกิดขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้น เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรก

ทดลองจัดระเบียบการปกครองระดับตำบล หมู่บ้าน ขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านเกาะ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 10 สิงหาคม 2435 จึงถือได้ว่า เป็นวันแรกของการจัดตั้งสถาบันกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และถือปฏิบัติจัดงานวันกำนันผู้ใหญ่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน

ถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ส.ส.หยิบยกมาอ้างได้ว่า เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องอยู่ในพื้นที่เพื่อร่วมงานดังกล่าว ขณะที่ในทางปฏิบัติ ปฏิเสธไม่ได้ว่า

กำนันผู้ใหญ่บ้านคือฐานเสียง และตัวช่วยขับเคลื่อนสำคัญของฝ่ายการเมืองในระดับท้องถิ่นมาแต่ไหนแต่ไร

ใครหวังจะเป็น ส.ส. หรือนักการเมืองท้องถิ่นระดับต่าง ๆ ย่อมต้องรู้จักและมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกำนันผู้ใหญ่บ้านด้วย

ถึงปัจจุบัน กำนันผู้ใหญ่บ้าน ยังคงมีบทบาทสำคัญในระดับท้องถิ่น แม้จะมีการเลือกตั้ง อบต. ขึ้นมาควบคู่ไปกับการปกครองระดับท้องถิ่น เพราะบางพื้นที่กำนันผู้ใหญ่บ้านสามารถชี้ตัวผู้สมัครให้ชาวบ้านลงคะแนนให้ได้

ขณะที่บางแห่งกำนันมีบทบาทบารมีมากกว่า ส.ส. มากกว่านักการเมืองท้องถิ่นเสียอีก สามารถชี้หรือกำหนดตัวผู้สมัคร ส.ส. ด้วยซ้ำไป

ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีผู้นำรัฐบาลบางคนดำริจะปรับเปลี่ยนบทบาท หรือแม้แต่วาระการอยู่ในตำแหน่งแทนที่จะอยู่จนเกษียณ รวมกระทั่งเคยจะยุบกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพราะซ้ำซ้อนกับ อบต. อย่างในสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ

แต่สุดท้ายก็ต้องถอย และมีภาพ “พ่อใหญ่จิ๋ว” จับมือประคองตัวแทนกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ลุกขึ้น เมื่อครั้งมีการรวมตัวไปเข้าพบ ถือเป็นภาพที่มีนัยสำคัญบนหน้าสื่อในสมัยนั้น

กำนันผู้ใหญ่บ้านจึงมีความสำคัญ เช่นเดียวกันวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน และอาจเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับองค์ประชุมรัฐสภา 10 ส.ค.2565 อย่างเลี่ยงไม่พ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง