บทวิเคราะห์ : เมื่อ “เสี่ยหนู” ประกาศพร้อมเป็นนายกฯ

การเมือง
9 ส.ค. 65
15:47
1,225
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : เมื่อ “เสี่ยหนู” ประกาศพร้อมเป็นนายกฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ขณะที่ 2 พรรคใหญ่ “พลังประชารัฐ” กับ “เพื่อไทย” ถูกระบุว่า อยู่เบื้องหลังการประชุมรัฐสภาล่ม เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2565 เพื่อหวังยื้อเวลาพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ให้แล้วเสร็จภายใน 15 ส.ค.

หวังให้รัฐสภาต้องกลับไปใช้ต้นร่างเดิมจาก กกต.ที่หารด้วย 100 กลับมาใช้ ถือเป็นการเล่นเกมการเมืองที่ชัดเจน ไม่สง่างาม แม้ในทางปฏิบัติจะสามารถทำได้

2 พรรคนี้ก็ยังพัวพันกับเรื่องปมนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะครบวันที่ 23 ส.ค.2565 ด้วย เพราะพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดทนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ขณะที่พรรคเพื่อไทย เตรียมจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้ 17 ส.ค. ไม่ว่าเหตุผลหรือข้ออ้างของ 2 ฝ่ายจะเป็นอย่างไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้ง 2 พรรค ตกเป็นโจทย์ของสังคมในเรื่องนี้เช่นกัน

รวมไปถึงนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ที่โดนเต็มๆ หลังมีท่าทีชัดเจนต้องการไปต่อบนเส้นทางการเมือง มองข้ามช็อตไปถึงเลือกตั้งครั้งหน้า โดยไม่สนใจว่า จะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนิด้าโพล ที่อ้างผลสำรวจจากประชาชนไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งหลังวันที่ 24 ส.ค.2565

หรือท่าทีของกลุ่มพลังนอกสภา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นัดหมายรวมตัวที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต 10 ส.ค. แม้จะบอกว่า เป็นการจัดงานครบรอบ 2 ปี การชุมนุมเมื่อปี 2563 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการแสดงพลังกดดันไม่เอารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต่อเนื่อง

ขณะที่นักเคลื่อนไหวอีกกลุ่มหนึ่ง ในนามกลุ่มหลอมรวมประชาชนของนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายนิติธร ล้ำเหลือ ก็ประกาศนัดชุมนุมตั้งแต่ 23 ส.ค.ไปถึงเที่ยงคืน ก่อนเข้าสู่วันใหม่ 24 ส.ค.2565

แต่สำหรับพรรคภูมิใจไทย กลับแตกต่างออกไป แม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และมีส่วนในการช่วยค้ำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มาหลายครั้ง แต่สำหรับ 2 ปมร้อนนี้ พรรคภูมิใจไทยไม่ได้ร่วมลงละเลงในโคลนการเมืองด้วย แต่กลับใช้ช่วงจังหวะชุลมุนดังกล่าว ซุ่มเปิดงานปลดล็อคกัญชากับเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ในจังหวัดต่าง ๆ

ล่าสุดคือที่ จ.ลพบุรี แสดงให้เห็นถึงความพร้อมสำหรับสู้ศึกเลือกตั้ง และที่สำคัญ ได้ประกาศชัดเจนว่า “หากประชาชนเลือกภูมิใจไทยเยอะๆ ก็พร้อมจะเป็นนายกฯเอง”

ถือเป็นความชัดเจน สำหรับบทบาทและอนาคตของพรรคภูมิใจไทย และตัวนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค บนพื้นฐานความมั่นอกมั่นใจในผลงาน และความชื่นชมของประชาชนที่มีต่อพรรคภูมิใจไทย มากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอย่างปฏิเสธไม่ได้

แม้ครั้งที่แล้วนายอนุทินก็ประกาศพร้อมเป็นนายกฯ แต่บริบทและความพร้อมของนายอนุทิน ระหว่างเลือกตั้งครั้งที่แล้วกับเลือกตั้งครั้งใหม่ดูแตกต่างกันมาก

ความจริงพรรคภูมิใจไทย เพิ่งผ่านสนามเลือกตั้งมาแค่ 2 ครั้ง คือเลือกตั้ง 54 ได้ ส.ส.34 คน แต่ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน กับเลือกตั้งมีนาคม 62 ได้ส.ส.2 ระบบรวมกัน 51 คน น้อยกว่าปชป.เพียง 1 คน แต่เพราะประเมินแล้ว ไม่ว่าขั้วใดหวังตั้งรัฐบาล ต้องเอา 2 พรรคนี้ไปรวมด้วยเท่านั้นจึงจะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

ต่อมาเมื่อเข้าร่วมหนุน พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค ปรากฏว่า มีส.ส.ผึ้งแตกรังย้ายไปร่วมด้วยอีกถึง 10 คน กลายเป็นพรรคใหญ่อันดับ 2 ของรัฐบาล เหนือกว่าพรรคประชาธิปัตย์

และหลังจากนั้น แม้พรรคภูมิใจไทยจะไม่เคยส่งผู้สมัครในสนามเลือกตั้งอีกเลย แต่กลายเป็นพรรคศูนย์รวมที่มี ส.ส.ตั้งใจปวารณาตัวทำหน้าที่ร่วมกับส.ส.ภูมิใจไทย รวมไม่น้อยกว่า 80 คน ทั้งในสังกัดพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล และพรรคพลังประชารัฐเอง ด้วยการเป็นพรรคแม่เหล็ก มีทุกสรรพสิ่งพร้อมสำหรับนักเลือกตั้ง

การดึงดูด ส.ส.ต่างพรรคให้ย้ายสังกัดมาอยู่ด้วย ทั้งที่เปิดเผยแล้วและที่ยังรอเวลาอยู่ เมื่อบวกกับผลงานปลดล็อคกัญชา หรือกัญชาเสรี ประชาชนสามารถปลูกกัญชาและมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ สร้างรายได้และความร่ำรวยให้กับผู้คนได้ ยิ่งเพิ่มดีกรีความมั่นอกมั่นใจให้กับนายอนุทินและพรรคภูมิใจไทยยิ่งขึ้น

เรื่องการมุ่งหวังถึงตำแหน่งนายกฯ จึงไม่ใช่สิ่งที่มัวแต่จะกระมิดกระเมี้ยนอีกต่อไป ยิ่งกับคำถามสำคัญที่ว่า คะแนนนิยมรัฐบาลขาลง หรือพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่จุดขายที่โดดเด่นเหมือนเลือกตั้งปี 62 หรือไม่ พรรคภูมิใจไทยจึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชนได้ไม่ยาก

กูรูการเมืองส่วนใหญ่จึงฟันธงตรงคล้ายกันว่า ภูมิใจไทยคือพรรคที่น่าจับตาที่สุด ไม่ได้ด้อยกว่าพรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐเลย ทั้งในการชิงเก้าอี้นายกฯ หรืออย่างแย่ที่สุด หากนายอนุทินพลาดไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลย่อมหลีกหนีไม่พ้นแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นขั้วไหนหวังตั้งรัฐบาล ต้องดึงพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมอย่างไม่ต้องสงสัย

เป็นความได้เปรียบ กับ 2 พรรคใหญ่ต่างขั้วอย่างพลังประชารัฐหรือเพื่อไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง