ผู้ต้องสงสัยปฏิเสธข้อหาพยายามฆ่า-ทำร้าย "นักเขียนอินเดีย"

ต่างประเทศ
14 ส.ค. 65
11:50
246
Logo Thai PBS
ผู้ต้องสงสัยปฏิเสธข้อหาพยายามฆ่า-ทำร้าย "นักเขียนอินเดีย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กลุ่มเฮซบอลลาห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ยืนยันไม่มีข้อมูลเหตุทำร้ายร่างกาย "ซัลมาน รัชดี" นักเขียนเชื้อสายอินเดีย วัย 75 ปี ขณะที่คนใกล้ชิด เผยรัชดีถอดเครื่องช่วยหายใจและพูดได้แล้ว ส่วนผู้ต้องสงสัยปฏิเสธข้อหาพยายามฆ่า

วันนี้ (14 ส.ค.2565) แอนดรูว์ วายลี่ ตัวแทนของซัลมาน รัชดี นักเขียนเชื้อสายอินเดีย ยืนยันกับสื่อในสหรัฐอเมริกา ว่า ซัลมาน รัชดี ถอดเครื่องช่วยหายใจและกลับมาพูดได้อีกครั้ง หลังถูกชกและแทง 10-15 ครั้ง บริเวณใบหน้า ลำคอ และท้อง บนเวทีเสวนาวิชาการที่สถาบันชาทอควา ในรัฐนิวยอร์ก จนได้รับบาดเจ็บสาหัส และอาจสูญเสียดวงตา 1 ข้าง

ด้านอัยการชาทอควา เคาน์ตี้ ในรัฐนิวยอร์ก ระบุว่า เฮดี มาทาร์ ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุ วัย 24 ปี ให้การปฏิเสธในข้อหาพยายามฆ่าและทำร้ายร่างกาย หลังจากถูกนำตัวขึ้นศาลเมื่อวานนี้ (13 ส.ค.) ก่อนหน้านี้ ตำรวจได้เข้าตรวจค้นบ้านพักของผู้ต้องสงสัยในแฟร์วิว รัฐนิวเจอร์ซีย์ รวมทั้งตรวจสอบเป้สะพายหลัง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่พบในที่เกิดเหตุ เพื่อค้นหาแรงจูงใจในการก่อเหตุ

ขณะที่การตรวจสอบบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุเคยแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อกลุ่มสุดโต่งและกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน แต่ยังไม่พบหลักฐานเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน

พ่อ-แม่ผู้ต้องสงสัยเป็นชาวเลบานอน

ด้านนายกเทศมนตรีเมืองยารูนในเลบานอน เปิดเผยว่า พ่อและแม่ของมาทาร์อพยพจากเลบานอนไปยังสหรัฐอเมริกา แต่ไม่มีข้อมูลว่า ครอบครัวนี้สนับสนุนกลุ่มเฮซบอลลาห์ที่อิหร่านสนับสนุนอยู่เบื้องหลังหรือไม่

ขณะที่สมาชิกกลุ่มเฮซบอลลาห์ที่ไม่ประสงค์ออกนาม ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวรอยเตอร์ส ว่า กลุ่มเฮซบอลลาห์ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการก่อเหตุทำร้ายร่างกายนักเขียนเชื้อสายอินเดีย ในสหรัฐอเมริกา

สำหรับซัลมาน รัชดี มีชื่อเสียงโด่งดังจากผลงานนวนิยายเรื่อง Midnight's Children เมื่อปี 1981 ซึ่งจำหน่ายได้กว่า 1,000,000 เล่ม เฉพาะในสหราชอาณาจักรเพียงประเทศเดียว ขณะที่นวนิยายเรื่องโองการปีศาจ หรือ The Satanic Verses ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1988 ทำให้รัชดีเผชิญกับการขู่เอาชีวิต จนต้องหลบซ่อนตัวเป็นเวลานานเกือบ 10 ปี เนื่องจากชาวมุสลิมจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์ว่าหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาดูหมิ่นศาสดาของศาสนาอิสลามอย่างร้ายแรง นำไปสู่การประท้วงทั่วโลกและถูกสั่งห้ามจำหน่ายในประเทศมุสลิมบางประเทศ

ต่อมาในปี 1989 อยาตอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำสูงสุดอิหร่านในขณะนั้น ได้ออกคำวินิจฉัยตามกฎหมายอิสลามให้สังหารรัชดี ทำให้เขาถูกตั้งค่าหัวมากกว่า 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 100 ,000,000 บาท

ขณะที่องค์กรทางศาสนากึ่งทางการอีกแห่งหนึ่งของอิหร่าน เพิ่มค่าหัวนักเขียนเชื้อสายอินเดียอีก 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 17,000,000 บาท ในปี 2555 แม้ว่าจะสิ้นสุดยุคของไคไมนีไปแล้ว

ที่มา : Reuters, AP

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สหรัฐฯ ค้นบ้านผู้ต้องสงสัย-เร่งสอบเหตุทำร้ายนักเขียน 

ตร.จับกุมผู้ต้องสงสัย ทำร้าย "นักเขียนอินเดีย" กลางเวทีบรรยาย 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง