"แผ่นดินไหว" ภัยพิบัติที่คนภาคเหนือต้องเตรียมรับมือ

ภัยพิบัติ
15 ส.ค. 65
11:48
1,178
Logo Thai PBS
"แผ่นดินไหว" ภัยพิบัติที่คนภาคเหนือต้องเตรียมรับมือ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่ เสริมหลักสูตรการเอาตัวรอดจากเหตุแผ่นดินไหว ให้เด็กๆ ไม่ทำให้ตัวเองและเพื่อนๆ ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว นักเรียนทุกคนจะหลบเข้าใต้โต๊ะ ขณะที่ครูยกเก้าอี้ขึ้นบังเหนือศีรษะ รอจนเมื่อแผ่นดินไหวสงบลง และได้ยินเสียงสัญญาณเตือนอพยพดังขึ้น

ครูจึงนำนักเรียนอพยพด้วยการเดินเร็ว ไม่วิ่ง ไม่วุ่นวายสับสน ไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้า สู่จุดรวมพลกลางแจ้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากอาฟเตอร์ช็อก

 

 

นี้เป็นการซ้อมแผนตามหลักสูตรการเอาตัวรอดจากเหตุแผ่นดินไหวของโรงเรียนแม่คือวิทยา อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ที่มีเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 รวม 367 คน

 

 

นายสุริยน สุริโยดร ผอ.ร.ร.แม่คือวิทยา บอกว่า ที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ตัวอาคารเคยได้รับความเสียหายเล็กน้อย จากแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้น จึงเสริมหลักสูตรให้เด็กๆ รู้จักวิธีการเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ดีเท่าเด็กโต ต้องมีการซักซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุการณ์เฉพาะหน้า

 

 

รศ.พิษณุ วงศ์พรชัย อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ระบุว่า แผ่นดินไหว ขนาด 6.4 ในเมียนมา จุดศูนย์กลางอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปประมาณ 87 กม. เมื่อเดือนกรกฎาคม และ อาฟเตอร์ช็อก ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องถึงปัจจุบัน แม้ตอบได้ยากว่าจะส่งผลต่อรอยเลื่อนในประเทศไทยหรือไม่ 

 

 

แต่กลไกการเกิดแผ่นดินไหวที่มาจากแหล่งเดียวกัน คือ การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกอนุทวีปอินเดียชนกับแผ่นทวีปยูเรเซีย ทำให้รอยเลื่อนทั้งในเมียนมา และไทย มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้เสมอ การซ้อมแผนเผชิญเหตุ และ การเสริมความแข็งแรงโครงสร้างอาคาร บ้านเรือน จึงยังเป็นสิ่งสำคัญ

 

 

ในพื้นที่ภาคเหนือ มีรอยเลื่อนมากกว่า 10 รอยเลื่อน ถือว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง ยังมีการสะสมตัวของพลังงาน จึงมีโอกาสการเคลื่อนตัว และทำให้เกิดแผ่นดินไหว แต่เป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่า การสั่นไหวจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน หน้าที่ของประชาชนและภาครัฐ ก็ต้องมีการตั้งรับใน 2 เรื่องใหญ่

 

 

หนึ่ง คือให้การศึกษาแก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ให้มีความรู้ในการเตรียมรับมือ ทั้งก่อนและหลังเกิดแผ่นดินไหว

 

สอง คือ ในเรื่องของที่อยู่อาศัย เพราะการสูญเสียชีวิตเมื่อเกิดแผ่นดินไหว สาเหตุหลักมาจากที่อยู่อาศัยพังทลายลงมาทับคน 

ภาครัฐเองต้องตระหนัก และ วางแนวทางให้โครงสร้างอาคารบ้านเรือน มีความปลอดภัย เพียงพอที่จะรับมือกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้

 

ในกรณี อาคารเก่าๆ มีงานศึกษา ถึงวิธีการเสริมความแข็งแรงให้กับอาคาร โดยไม่ทุบทิ้ง ทำใหม่ แต่เสริมโครงสร้างบางตัวให้กับโครงสร้างเก่าให้มีความแข็งแรงมากขึ้น สามารถรับแรงที่เกิดจากแผ่นดินไหวได้ ซึ่งภาครัฐควรมีการกำหนดเรื่องนี้ ให้เป็นนโยบาย เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง