นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย ทดสอบแผงโซลาร์เซลล์ชาร์จรถไฟฟ้า

Logo Thai PBS
นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย ทดสอบแผงโซลาร์เซลล์ชาร์จรถไฟฟ้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิทยาศาสตร์พัฒนาแผงโซลาร์เซลล์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยออกเดินทาง 15,000 กม. รอบชายฝั่งออสเตรเลียเพื่อทดสอบที่ชาร์จไฟแบบพกพา

รถยนต์พลังงานไฟฟ้าพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมัน แต่การชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้งจะขับไปได้ไกลแค่ไหน หรือหากต้องขับไปในพื้นที่ห่างไกลและไม่คุ้นชินจะชาร์จไฟได้อย่างไร อาจเป็นความกังวลใจของหลายคนที่สนใจรถประเภทนี้ โครงการวิจัยจากออสเตรเลีย Charge Around Australia จึงคิดค้นเพื่อช่วยปัญหาเหล่านี้ ด้วยการพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์แบบพกพา

โครงการ Charge Around Australia เกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัท Around Britain Ltd และ University of Newcastle ประเทศออสเตรเลีย เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นการนำพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานที่ยั่งยืนและมีต้นทุนต่ำมาให้งาน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น จึงนำไปสู่การผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่พิมพ์ออกมาเพื่อใช้ขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่าง Tesla ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยจะนำมาทดสอบวิ่งในระยะทางกว่า 15,000 กิโลเมตรรอบชายฝั่งออสเตรเลีย

โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียได้คิดค้นและทดลองผลิตแผงโซลาร์เซลล์แบบพกพาที่มีความยาว 18 เมตร จำนวน 18 แผ่น ซึ่งสามารถกางออกเพื่อชาร์จไฟรถยนต์ โดยได้นำมาทดลองขับวนรอบชายฝั่งออสเตรเลียเป็นระยะทางประมาณ 15,000 กิโลเมตร (9,380 ไมล์) ในเวลา 84 วัน

ในระยะเวลา 84 วันของการเดินทางเพื่อทดสอบแผงโซลาร์เซลล์พกพากับรถ Tesla ทีมงาน Charge Around Australia ยังได้เข้าเยี่ยมชมโรงเรียนประมาณ 70 แห่งตลอดเส้นทาง เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสสัมผัสเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้

โครงการ Charge around แสดงให้เห็นความสามารถของโซลาร์เซลล์แบบพกพาผ่านการเดินทางกว่า 15,000 กิโลเมตร เพื่อให้แผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตขึ้นมานั้น สามารถแก้ปัญหาจุดชาร์จพลังงานในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตลอดการเดินทาง ทำให้หมดความกังวลใจในการตามหาสถานีชาร์จพลังงานเมื่อต้องเดินทางไปในพื้นที่ห่างไกล


ที่มาข้อมูลและภาพ: chargearoundaustralia, reuters, cleantechnicachargearoundaustralia (FB)
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง