บทวิเคราะห์ : “ใจสะท้าน” นับถอยหลังสะเทือนอนาคต “บิ๊กตู่”

การเมือง
19 ส.ค. 65
10:13
799
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : “ใจสะท้าน” นับถอยหลังสะเทือนอนาคต “บิ๊กตู่”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ยิ่งใกล้เดดไลน์ 23 สิงหาคม 65 ที่ฝ่ายค้านและนักวิชาการจำนวนหนึ่งชี้ว่า เป็นวันครบ 8 ปี การอยู่บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากเท่าไหร่ “บิ๊กตู่” ดูจะมีอาการเคร่งเครียดเห็นได้ชัด

เพราะแม้จะเป็น “ด่านหิน” ด่านสุดท้าย แต่เป็นด่านสำคัญมาก และอาจต้องเดิมพันสูงที่สุด นับตั้งแต่เข้าสู่แวดวงการเมืองในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ และนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ พยายามเลี่ยงการพบปะกับสื่อ เพราะหากเจอก็หนีไม่พ้น จะถูกถามเรื่องนายกฯ 8 ปี หากเลี่ยงไม่พ้นก็จะพยายามปฏิเสธไม่พร้อมจะตอบคำถาม แถมยังไล่ให้ไปศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เรื่องอริยสัจ 4

ขณะที่ข่าวบางกระแสระบุว่า แม้แต่การออกรอบตีกอล์ฟ นายกฯ ก็งด หลีกเลี่ยงข้อครหาว่ายังทำตัวชิลล์ ๆ ทั้งที่มีเรื่องมากมายให้แก้

แต่ปัจจัยที่ถาโถมกดดัน ตอนนี้ดูจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงนักร้องเรียนและฝ่ายค้าน ที่ยื่นเรื่องให้มีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ โดยมีปลายทางที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ที่เป็นแรงกดกันหนักคือ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ที่ทยอยออกมาวิพากษ์และวิเคราะห์ในเชิงกฎหมาย รวมถึงการตีความทั้งในมาตรา 158 วรรค 4 และบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ที่เกี่ยวข้องกับการอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะต่อเนื่องกันหรือไม่

มิหนำซ้ำ ในจดหมายเปิดผนึกที่นักวิชาการนิติศาสตร์ 51 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย ที่ส่งถึงประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังได้มุ่งเน้นไปที่การตีความนับสำคัญว่า

พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ ซึ่งคำตอบก็เห็นตรงกัน คือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จึงจะครบ 8 ปีวันที่ 24 ส.ค.2565 นี้เท่านั้น

จากนั้นต้องเป็นไปตามมาตรา 170 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยเรื่อง “การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรี” ที่ได้บัญญัติไว้ในวรรคสองว่า “ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เมื่อครบกำหนดเวลา” ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย

ถือเป็นการโต้แย้งโดยตรงกับฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้อยู่ต่อ และเห็นต่างเรื่องการนับระยะเวลา 8 ปี หลังจากฝ่ายสนับสนุน ชูประเด็นการเป็นรัฐธรรมนูญคนละฉบับ คือรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กับรัฐธรรมนูญปี 2560 และไม่มีผลย้อนกลับไปข้างหลัง

แม้จะเป็นเรื่องของนักกฎหมายที่จะถกเถียงกัน และการตีความจะแตกต่างกันได้ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ผู้ที่จะวินิจฉัยชี้ขาดจริงๆ คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยครั้งนี้ ท่าทีและกระแสของผู้คนในสังคม จะมีส่วนต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นอีกเรื่องที่ถกเถียงกัน

หลังจากช่วงวิกฤติการเมืองไทย นับตั้งแต่เกิดกีฬาสีการเมืองในประเทศเป็นต้นมา องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยตกเป็นเป้าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสภากาแฟ สภาชาวบ้าน และสภานักวิชาการทั่วไปมาแล้ว

ครั้งนี้จึงจะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ และความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง