"เทวัญ" คาด "ชาติพัฒนา" ได้ ส.ส.มากขึ้น หวังสานต่อ "มอเตอร์เวย์โคราช" ให้สำเร็จ

การเมือง
19 ส.ค. 65
14:56
290
Logo Thai PBS
"เทวัญ" คาด "ชาติพัฒนา" ได้ ส.ส.มากขึ้น หวังสานต่อ "มอเตอร์เวย์โคราช" ให้สำเร็จ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"เทวัญ" หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ตั้งเป้า พรรคชาติพัฒนา ได้ ส.ส.เพิ่มในพื้นที่โคราช พร้อมขนาดในพื้นที่ ระยอง-นครสวรรค์ หวังสานต่อก่อสร้างมอเตอร์เวย์โคราชให้แล้วเสร็จพัฒนาเศรษฐกิจอีสาน

เทวัญ ลิปพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ในฐานะพรรคเก่าแก่ เจ้าของฐานคะแนนเสียงเดิมในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์กับ ประจักษ์ มะวงสา บรรณาธิการ อาวุโส ไทยพีบีเอส ถึง แนวทางการทำงานทางการเมืองในการที่จะนำพรรคชาติพัฒนากลับมายิ่งใหญ่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และ ขยายในพื้นที่อื่น ๆ  

เตรียมรับมือพรรคการเมืองหลายพรรคที่จะมาปักธงในพื้นที่ จ.นครราชสีมา อย่างไร

เทวัญ : เลือกตั้งครั้งที่แล้ว 14 เสียง ของ จ.นครราชสีมา มีการแบ่งไปหลายพรรค โดยพรรคพลังประชารัฐ 6 คน พรรคเพื่อไทย 4 คน ภูมิใจไทย 3 คน และ ชาติพัฒนา 1 คน ยอมรับในความเปลี่ยนแปลงของโคราชพอสมควร หลังมีการรัฐประหารความต่อเนื่องในการทำงานก็ลดลง

หลังจากนี้ไปเราเริ่มกลับมาสร้างกันใหม่ ไม่ได้ทอดทิ้งประชาชนไปไหน ที่ผ่านมาในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ท่านสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ก็มีผลงานค่อนข้างเยอะ พี่น้องประชาชนก็ยังนึกถึงอยู่ตลอดเวลา

ทำไมมนต์ขลังของ "น้าชาติ" หรือ "ชาติพัฒนา" จึงเปลี่ยนไป หลังผ่านมาหลายเจนเนอเรชัน

เทวัญ : บริบทการเมืองไทย ในยุคหลังอาจเปลี่ยนไป เช่น อยากเห็นความชัดเจน เช่น หลังการรัฐประหาร อยากเห็นว่าจะซ้ายหรือขวา เอาให้ชัด

แต่ชาติพัฒนา มีคอนเซปต์คือ เป็นพรรคที่ไม่มีปัญหา จึงอยู่ตรงกลางมาตลอด และยึดถือสิ่งนี้มา แต่การเมืองที่เปลี่ยนถ่ายจาก คสช.มาสู่ประชาธิปไตย คนส่วนหนึ่งต้องความชัดเจนว่าจะซ้ายหรือขวา


แล้วพรรคชาติพัฒนาจะเอาซ้ายหรือขวา ครั้งหน้าชัดเจนได้มั้ย

เทวัญ : ตอนนี้ยังบอกอะไรไม่ได้ ยังไกล รอใกล้ ๆ การเลือกตั้งก่อน

พรรคการเมือง ที่จะมาแข่งขันที่ จ.นครราชสีมา จะได้มากขึ้นมั้ย เสียงประชาชนมองอย่างไร

เทวัญ : ไม่ทราบว่าพรรคไหนจะได้มากขึ้น หรือ น้อยลง แต่มั่นใจว่าพรรคชาติพัฒนาจะได้มากขึ้น"

นอกจากพื้นที่ จ.นครราชสีมาแล้ว ในพื้นที่อื่นมั่นใจแค่ไหน

เทวัญ : ยังมีอีกหลายจังหวัด นอกเหนือ จ.นครราชสีมา ที่คุยแล้ว ยังมีผู้สมัครที่มีแววและมีอนาคตอีกหลายท่าน รวมถึงภาคตะวันออก ที่เปิดตัว จ.ระยอง และ จ.นครสวรรค์

นโยบายสมาร์ตซิตี้ ถือเป็นนโยบายที่ดีต่อชีวิตคนโคราชอย่างไร

เทวัญ :  สมาร์ตซิตี้หมายถึง การรวมทุกอย่างให้ทันสมัยขึ้น ทั้งส่วนราชการ หรือ อะไรก็แล้วแต่ วันสตอปเซอร์วิส ใช้เทคโนโลยี ทำบนอินเทอร์เน็ต ทำบนมือถือ และในโคราช ที่เป็นจังหวัดที่มีความทันสมัย

ใหญ่ที่สุด รองจากกรุงเทพฯ ทั้งพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในไทย GDP ก็สูง ประชากรก็รองแค่กรุงเทพฯ ส.ส. 14 คน เพิ่มเป็น 16 คน วันนี้ถ้าใครครองโคราช ได้ก็เป็นพรรคฯระดับกลางเลยนะ รวมกับปาร์ตี้ลิสต์อีก 4 คน ก็รวม 20 คน ก็เป็นพรรคขนาดกลางแล้ว

ทำไมโครงการมอเตอร์เวย์ทำไมยังไม่สามารถเปิดใช้ได้ ตลอดเวลาเสียที

เทวัญ : โครงการนี้เกิดตั้งแต่ยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แต่มาเริ่มโครงการจริง ๆ เมื่อปี 2559 ในสมัย รัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มปี 2559 เป้าหมายเพิ่อลดการจราจรบนนถนนมิตรภาพ

จึงสร้างถนนเส้นใหม่ เรียกว่า ถนนบางปะอิน-สระบุรี ถนนสระบุรี -นครราชสีมา หรือ เรียกง่ายๆ ว่า บางปะอิน - โคราช หรือ M6 ระยะทางรวม 198 กม. โดยแบ่งช่องทางจราจร 2 ช่องทาง 4 ช่องทาง ตามความเหมาะสม

ดังนั้น ดังที่เห็นได้จาก มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-พัทยา หรือ พัทยา -ชลบุรี -อู่ตะเภา ความเจริญก็มากขึ้น และในกรณีมอเตอร์เวย์โคราช เช่นกัน ความเจริญจะไปถึงโคราช บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ

ปัญหาคือ ลงทุนไปแล้ว 7.76 หมื่นล้านบาท เป็นค่าเวนคืน 8,000 - 9,000 ล้านบาท ค่าก่อสร้างราว 70,000 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 40 ตอน เพราะต้องการให้แล้วเสร็จในปี 2563 เริ่มประมูลปี 59

แต่เมื่อก่อสร้างไปแล้วก็พบปัญหาในการออกแบบ โดยออกแบบไว้เป็นถนน แต่ในการก่อสร้างจริงนั้นเป็นหุบ หรือ เหว ซึ่งในทางวิศวกรรมไม่สามารถทำถนนบนหุบเหวได้

ดังนั้นจึงทำเป็นสะพาน จึงทำให้ค่าก่อสร้างจึงสูงขึ้นอีก 6 เท่า สมมติถนน 1 กม.ใช้งบฯ 100 ล้าน ถ้าเป็นสะพานก็ใช้ 600 ล้านบาท

ปัญหานี้ ทราบเมื่อก่อสร้างได้ราว 1 ปีกว่า หรือ ในปี 61 โดยทราบแล้วว่าเงินจะขาด แต่ด้วยกระบวนการทางด้านกฎหมาย หรือ จากการไม่ตัดสินใจ จึงเก็บไว้อย่างนั้น ผู้รับเหมาจึงทำได้บ้าง เบิกเงินไมได้บ้าง

ดังนั้นเมื่อปี 2563 ส่วนที่เป็นงานเกินจึงหยุดทั้งหมด เนื่องจากเบิกเงินไม่ได้ และไม่มีความชัดเจนว่าส่วนที่เกินจะได้เงินหรือไม่ ซึ่งยังขาดอีกราว 6,000 ล้านบาท

หากเปิดดำเนินการได้ รายได้จากค่าผ่านทางจะสามารถชดใช้เงินเพิ่มจำนวน 6,000 ล้านบาทได้หรือไม่

เทวัญ : ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา กรมทางหลวงเปิดให้ใช้เส้นทางชั่วคราว โดยมีผู้ใช้เส้นทางราว 2 - 3 แสนคันต่อวัน หากคิดค่าใช้เส้นทางราว 200 บาท เมื่อคูณเข้าไปก็จะเป็นรายได้ หรือหากคิดเพียง 100 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 20 ล้านบาท 

หากคิดแค่วันละ 10 ล้านบาท ระยะเวลา 1 ปี หรือ 365 วัน ก็จะมีเงินคืนมาจำนวน 3,650 ล้านบาท ต่อ 1 ปี แล้วหรือ 2 ปี จำนวน 6,000 กว่าล้านบาทแล้ว แล้วถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกมากมาย และยังช่วยประหยัดน้ำมันได้ ช่วยร่นระยะทางและเวลา

สิ่งที่จะตามมาคือ การค้าการขาย การท่องเที่ยว หากมอเตอร์เวย์เสร็จก็จะมีวันเดย์ทริปได้ โดยในช่วงเช้าออกจากบางปะอิน แวะกินกาแฟเขาใหญ่ ไปไหว้หลวงพ่อคูณที่ด่านขุนทด ไปเที่ยวปักธงชัย ซื้อผ้าไหม เสร็จแล้วมาไหว้ย่าโม กินไก่ย่าง ส้มตำที่โคราช จากนั้นก็กลับกรุงเทพฯ แต่ขณะนี้ยังเปิดไม่ได้

จากนี้จะดำเนินการอย่างไร 

เทวัญ : วันนี้ที่ลงทุนไป 7.6 หมื่นล้าน ถ้าเป็นเอกชน หากขาดอีก 6,000 ล้านบาท ยังไงเอกชนก็จะหาเงินมา แต่นี่เป็นแบบข้าราชการ คิดคนละแบบ

เพราะอะไรหาเงินทุนไม่ได้ ทำไมต้องเก็บไว้แบบนั้น

เทวัญ : ผมว่าไม่ใช่หาเงินทุนไม่ได้ เพราะงบประมาณรัฐบาลปีนี้วงเงิน 3.158 ล้านล้านบาท นี่แค่ 6,000 ล้านบาท ดังนั้นไม่ได้เป็นปัญหาตรงนี้ ปัญหาจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งจะต้องรอ ครม.อนุมัติ

หากโครงการนี้เปิด จะเป็นอย่างไร

เทวัญ : เดิมโครงการนี้เปิด 4 วัน ช่วงวันหยุดยาว แต่ไม่ได้เปิดทั้งหมด ขาไปเริ่มจากปากช่องให้วิ่ง 2 วัน ขากลับให้กับ 2 วัน ไม่รู้ทำไมจึงไม่เปิดทั้งหมด

โครงการนี้จริง ๆ ไม่ได้เปิดแค่โคราช เป็นโครงการ โคราช-ขอนแก่น และ ขอนแก่นไปออกหนองคาย นี่คือเส้นทางที่กำหนดไว้ และไม่ใช่เพียงกรุงเทพฯและอีสาน แต่ที่ผ่านมา จ.สระบุรี ก็ได้ประโยชน์ อ.มวกเหล็ก ทั้งหมดได้ประโยชน์หมด

ในอนาคต หากพรรคชาติพัฒนามีโอกาสร่วมรัฐบาลจะแก้ได้มั้ย

เทวัญ : ไม่ใช่แก้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดเลยว่า เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการให้สำเร็จ และเชื่อว่ารัฐบาลรู้อยู่แล้วว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ต้องเปิด เพราะลงทุนไปมากแล้ว ควรเปิด และขณะนี้ทั้งหมด 40 สัญญาเสร็จไปแล้ว 25 สัญญา และ 25 สัญญาหมดระยะเวลาค้ำประกันแล้ว ซึ่งหากเปิดใช้ ถนนพังก็หมดเวลารับประกันแล้ว 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง