เอาใจช่วย! ช้างป่าใจสู้ "บุญรอด" บาดเจ็บสาหัส

สิ่งแวดล้อม
19 ส.ค. 65
19:20
644
Logo Thai PBS
เอาใจช่วย! ช้างป่าใจสู้ "บุญรอด" บาดเจ็บสาหัส
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เฝ้า 24 ชั่วโมง รักษาช้างป่า "บุญรอด" บาดแผลสาหัสบริเวณโคนหาง เดินเข้าสวนยางขอความช่วยเหลือ พบอาการค่อนข้างแย่ ค่าไตไม่ดี ค่าเม็ดเลือดขาวสูง แผลติดเชื้อ ขณะที่ชาวบ้าน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ห่วงใย นำอาหารมาให้ช้าง

วันนี้ (19 ส.ค.2565) ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ทีมสัตวแพทย์ สัตวบาล สอส.สบอ.3 (บ้านโป่ง) สัตวแพทย์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เข้ารักษา "บุญรอด" ช้างป่าเพศผู้ อายุ 2-3 ปี พบบาดแผลสาหัสบริเวณโคนหาง โดยเจ้าหน้าที่ได้ติดรั้วไฟฟ้าเพื่อกักบริเวณรักษาในพื้นที่สวนยางพาราของชาวบ้าน ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

เจ้าหน้าที่ต้องปีนต้นไม้และฉีดพ่นยารักษาแผล ด้วยเครื่องพ่นยาช่วงเวลา 11.00 น. และเวลา 16.30 น. รวมทั้งให้ยากินรักษา ได้แก่ ยาลดปวด ลดอักเสบ วิตามิน โปรตีนรวม วิตามินซี น้ำผึ้ง และเกลือแร่ก้อนทุบละเอียด

"ลูกช้างเองแสดงพฤติกรรมว่าอยากจะรอด พยายามจะสู้ เจ้าหน้าที่ น้อง ๆ ก็รักษาในพื้นที่ ทุ่มเท เสียสละ มากินนอนเฝ้าช้าง"

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ "หมอล็อต" หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เข้าติดตามอาการช้างป่า และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมเปิดเผยว่า ช้างป่าตัวนี้แสดงสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด แม้อาการค่อนข้างแย่ แต่ยังกินได้

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

ช้างป่าบุญรอด ได้ใช้เศษเสื้อผ้ามาตีบริเวณขาซ้ายที่บวมมาก และถูแผลกับเสาไม้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บ โดยแผลอยู่บริเวณหางเยื้องมาทางสะโพกด้านขวา ทำให้ขาข้างขวาลงน้ำหนักได้ไม่ดี และต้องใช้ขาข้างซ้ายมาขึ้นจนมีอาการบวม

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของอาการบาดเจ็บได้ เพราะอาจเกิดจากการดำรงชีวิตในธรรมชาติ การต่อสู้ การถูกทำร้ายจากช้างด้วยกันเอง หรือถูกกัดหาง หรือร่องรอยบาดแผลจากการกระทำของคน หรือถูกสัตว์ผู้ล่ากัด

ช้างออกมานอกพื้นที่ มาอยู่ในพื้นที่ของชาวบ้าน พยายามรักษาตัวเอง เพราะฉะนั้นโดยสวัสดิภาพของสัตว์ป่า เมื่อเขาได้รับบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วย ก็ควรได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

รักษาประคับประคอง-รอผลตรวจโรค

นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ใช้พื้นที่สวนยางของชาวบ้านที่มีศาลาพัก เป็นพื้นที่รักษา ซึ่งช้างบุญรอดได้เดินเข้ามาในพื้นที่นี้ อาจเป็นสัญชาตญาณหนึ่งที่อยากจะรักษาและอยากเอาตัวรอด

เบื้องต้นพบว่า ช้างป่ากินกล้วยสุกได้ แต่ไม่กินหญ้า กินหยวกกล้วยได้เล็กน้อย กินน้ำได้ ขับถ่ายได้ แต่มีลักษณะนิ่ม มีพฤติกรรมสนใจสิ่งแวดล้อม เยื่อเมือกในช่องปากมีสีค่อนข้างซีด ส่วนค่าเลือดที่ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่าค่าเม็ดเลือดแดงต่ำ (เลือดจาง) ค่าเม็ดเลือดขาวบางชนิดสูง (ภาวะติดเชื้อเรื้อรัง) ค่าตับสูงเล็กน้อย ค่าการสลายของกล้ามเนื้อสูง ยังรอผลตรวจเพิ่มเติมเรื่องไวรัสและโรคที่สำคัญในช้าง คาดว่าจะทราบผลในสัปดาห์หน้า

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เรารักษาแบบประคับประคอง ให้เขาไม่ทุกข์ทรมาน ควบคู่การเก็บตัวอย่างเลือด ผลตรวจสุขภาพพบว่าแย่มาก ค่าไตไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ค่าเม็ดเลือดขาวสูงมาก เพราะบาดแผลติดเชื้อ แต่ยังรอผลตรวจโรค

นายสัตวแพทย์ภัทรพล ยังเล่าถึงความประทับใจที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลช้างบาดเจ็บและมอบพื้นที่ให้ใช้ระหว่างการรักษา โดยชาวบ้านแสดงห่วงใย คอยนำอาหารมาให้ช้าง รวมทั้งทำอาหารมาให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลช้างป่าตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง