บริษัทเอกชนพัฒนาโดรนดำน้ำ ค้นหาสมบัติและสำรวจใต้ทะเล

Logo Thai PBS
บริษัทเอกชนพัฒนาโดรนดำน้ำ ค้นหาสมบัติและสำรวจใต้ทะเล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีมสำรวจบริษัทเอกชน พัฒนาโดรนดำน้ำใช้เทคโนโลยีจำลองแผนที่ 3 มิติ เพื่อสำรวจสมบัติและซากเรืออับปางใต้ท้องทะเล

บริเวณก้นทะเลมีความลับมากมายที่เรายังไม่รู้และยากที่จะศึกษาค้นคว้า เพราะการสำรวจก้นทะเลทั้งซับซ้อนและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงมีผู้คิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การสำรวจใต้ทะเลง่ายขึ้นกว่าเดิม

โดรนที่มีชื่อว่า SeaSearcher เป็นโดรนดำน้ำที่สามารถบังคับได้จากระยะไกล หรือตั้งโปรแกรมล่วงหน้าให้เดินทางสำรวจเพื่อช่วยเก็บข้อมูลจากใต้ท้องทะเล โดยการสร้างแผนที่ 3 มิติจำลองพื้นผิวก้นทะเลหรือวัตถุต่าง ๆ ใต้น้ำ นอกจากนั้นยังมีความสามารถในการตรวจจับโลหะและจำแนกประเภทได้อย่างแม่นยำ โดยโดรนตัวนี้สามารถตรวจจับโลหะได้ลึกถึง 100 เมตรใต้พื้นทะเล

SeaSearcher เป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ในการค้นหาวัตถุสำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือทรัพย์สมบัติที่สูญหาย โดยที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงอันตรายเพื่อลงไปสำรวจด้วยตัวเอง นอกจากการสำรวจใต้พื้นทะเลแล้ว โดรนนี้ยังมีหน้าที่สำรวจบริเวณซากเรืออับปาง ซึ่งผู้ผลิตเชื่อว่ามีสมบัติที่ถูกพายุซัดจนฝังลึกลงใต้พื้นทะเล และยังไม่เคยมีอุปกรณ์ใดที่ช่วยในการสำรวจโลหะเหล่านั้นได้อย่างละเอียดและแม่นยำเท่าโดรนนี้

โดรน SeaSearcher เป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากการร่วมมือกันของบริษัท SeaFarer และทิม เรย์โนลส์ CEO ของบริษัท Wild Manta ซึ่งในตอนนี้พวกเขาได้ทำการสำรวจส่วนลึกของน่านน้ำในพื้นที่ทางใต้ของ Cape Canaveral ในฟลอริดา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจพื้นที่บริเวณซากเรืออับปางเก่าแก่ของสเปนที่สูญหายไปขณะแล่นเรือไปและกลับจากฮาวานา

บริษัท Seafarer มีแผนการจะเปิดให้บริการค้นหาสมบัติให้แก่ผู้ล่าสมบัติในอีก 6 เดือนหลังจากนี้ โดยตอนนี้พวกเขาทำการใช้โดรน SeaSearcher ในการสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ว่ามันสามารถระบุตำแหน่งของสมบัติได้จริง นอกจากนั้นยังตั้งเป้าหมายในการนำสมบัติเหล่านั้นมาใช้เป็นเงินทุนเพิ่มเติมของบริษัทเองอีกด้วย


ที่มาข้อมูลและภาพ: seafarerexplorationcorp, newatlas, techtimes, interestingengineering
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง