"เกาหลีใต้" ขึ้นแท่นอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลกอีกครั้ง เหตุกดดันปัญหาเศรษฐกิจ

ต่างประเทศ
26 ส.ค. 65
07:18
1,764
Logo Thai PBS
"เกาหลีใต้" ขึ้นแท่นอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลกอีกครั้ง เหตุกดดันปัญหาเศรษฐกิจ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เกาหลีใต้ ที่กำลังจะประสบปัญหาขาดแคลนประชากรวัยทำงาน เนื่องมาจากอัตราการเกิดที่ต่ำ อัตราการเกิดที่ลดลงนี้ถือว่าลดต่ำสุดในโลกและไม่ใช่ครั้งแรก โดยปัญหาก็มาจากปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ

เกาหลีใต้กำลังจะประสบปัญหาขาดแคลนประชากรวัยทำงาน เนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำโดยอัตราการเกิดที่ลดลงนี้ถือว่าลดต่ำที่สุดในโลกและไม่ใช่ครั้งแรก ซึ่งปัญหามาจากปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ

เกาหลีใต้ประสบปัญหาภาวะอัตราการเกิดต่ำสุดในโลกเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง เนื่องจากอัตราการเกิดลดลงสู่ระดับต่ำสุดครั้งใหม่

เกาหลีใต้เริ่มประสบปัญหาอัตราการเกิดลดลงมาตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งผู้หญิง 1 คน มีอัตราการให้กำเนิดเด็กลดลงต่ำกว่า 1 คน

ข้อมูลล่าสุดที่เปิดเผยโดยรัฐบาลเกาหลีใต้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา พบว่า ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 0.81 ต่ำกว่าปีก่อนหน้าและลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 6 แล้ว

ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีเศรษฐกิจชั้นนำ ค่าเฉลี่ยอัตราการให้กำเนิดบุตรของผู้หญิง 1 คนจะอยู่ที่ 1.6 และการจะรักษาจำนวนประชากรไว้ในระดับเดิมสำหรับกลุ่มประเทศเหล่านี้ คู่รัก 1 คู่ ต้องมีอัตราการให้กำเนิดอยู่ที่ 2.1

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า อัตราการเกิดลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา แต่แนวโน้มดังกล่าวเห็นได้ชัดเป็นพิเศษในเกาหลีใต้

ขนาดครอบครัวลดลงในช่วง 2-3 ชั่วอายุคนที่ผ่านมา จากช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ซึ่งผู้หญิง 1 คนมีอัตราการให้กำเนิดบุตร 4 คนโดยเฉลี่ย และจำนวนประชากรที่ลดลงอาจทำให้เกาหลีใต้ต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะตึงเครียดอย่างหนัก

นอกเหนือจากแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นเมื่อภาครัฐต้องมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ระบบการรักษาพยาบาลและเงินบำนาญที่เพิ่มขึ้น

ประชากรวัยหนุ่มสาวที่ลดลงยังจะนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย ขณะที่ในปี 2020 เกาหลีใต้มีอัตราการเสียชีวิตของประชากรมากกว่าอัตราการเกิดเป็นครั้งแรก

ด้านผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแรงกดดันทางเศรษฐกิจและปัจจัยด้านอาชีพเป็นปัจจัยสำคัญของการตัดสินใจมีบุตร โดยในปี 2021 ค่าครองชีพและราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้นประกอบกับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ก็ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวเกาหลีใต้ไม่อยากมีบุตร

วิกฤตดังกล่าวกำลังก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ และหากจำนวนประชากรของเกาหลีใต้ยังคงหดตัวต่อไป จะมีคนไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต ดูแลประชากรผู้สูงอายุ รวมถึงการเกณฑ์ทหารรับใช้ชาติ

ขณะที่นักการเมืองทราบถึงปัญหานี้มาหลายปีแล้วแต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ โดยรัฐบาลทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อจูงใจให้ประชากรของตัวเองมีบุตรแต่ก็ยังไม่ได้ผล

นอกจากเงินเป็นปัจจัยหลัก เพราะการมีลูกสักคนในเกาหลีใต้นั้นมีค่าใช้จ่ายสูง และคนหนุ่มสาวจำนวนมากกำลังจมอยู่กับภาระค่าบ้านที่พุ่งสูง

รวมถึงผู้หญิงในเกาหลีใต้เองก็มีการศึกษาสูง แต่ยังคงห่างไกลความเท่าเทียมในที่ทำงาน โดยเกาหลีใต้จัดเป็นประเทศที่มีช่องว่างในเรื่องของค่าจ้างระหว่างเพศหญิงและชายที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศร่ำรวย

อีกทั้งงานบ้านและการเลี้ยงลูกส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้ยังคงตกเป็นหน้าที่ของผู้หญิง จึงเป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงเลือกที่จะหยุดทำงานหลังจากมีลูก หรือ ถูกบีบให้ต้องเลือกระหว่างการทำงานและการมีครอบครัว ซึ่งมีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ตัดสินใจเลือกรักษาอาชีพการงานเอาไว้

ขณะที่เว็บไซต์ worldpopulationreview เปิดเผยข้อมูล 10 ประเทศที่มีอัตราการให้กำเนิดสูงที่สุดในปี 2021 โดยอ้างอิงข้อมูลจากธนาคารโลก โดยทั้งหมดอยู่ในทวีปแอฟริกา ได้แก่

1. ไนเจอร์ มีอัตราการให้กำเนิดบุตรต่อผู้หญิง 1 คนอยู่ที่ 6.8

2. โซมาเลีย 6

3. คองโก 5.8

4. มาลี 5.8

5. ชาด 5.6

6. แองโกลา 5.4

7. บุรุนดี 5.3

8. ไนจีเรีย 5.3

9. แกมเบีย 5.2

10. บูร์กินาฟาโซ 5.1

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง