องค์กรสิทธิฯ เรียกร้องอินโดฯ สอบสวนใช้แก๊สน้ำตาในสนามฟุตบอล

ต่างประเทศ
3 ต.ค. 65
07:06
358
Logo Thai PBS
องค์กรสิทธิฯ เรียกร้องอินโดฯ สอบสวนใช้แก๊สน้ำตาในสนามฟุตบอล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อินโดนีเซียเผชิญเหตุจลาจลในสนามฟุตบอลจนมีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน ซึ่งนับเป็นเหตุโศกนาฏกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ และเป็นโศกนาฏกรรมซึ่งเกิดขึ้นในสนามกีฬาที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของโลกด้วย

เจ้าหน้าที่เข้าเก็บกวาดซากความเสียหายภายในสนามฟุตบอลกันจูรูฮัน สนามเหย้าของ ทีมอาเรมา เอฟซี ในเมืองมาลัง จ.อีสต์ชวา ของ อินโดนีเซีย หลังจากเกิดเหตุจลาจลซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 125 คน บาดเจ็บอีกกว่า 320 คน


เหตุการณ์นี้ค่อยๆ ปะทุขึ้นหลังจากแฟนบอลของ ทีมอาเรมา เอฟซี ซึ่งเป็นทีมเจ้าบ้าน ไม่พอใจที่ทีมของตัวเองพ่ายแพ้ให้แก่ ทีมเปอร์เซอบายา ซูราบายา ด้วยสกอร์ 2 ต่อ 3 ประตู จึงเริ่มขว้างปาสิ่งของลงไปในสนาม ขณะที่นักเตะ 2 ทีมในสนามก็เริ่มกระทบกระทั่งกัน

จากนั้นไม่นานจึงเกิดภาพแฟนบอลวิ่งกรูกันเข้าไปในสนามหลังจบเกม ขณะที่บางส่วนขว้างปาขวดน้ำและสิ่งของเข้าใส่ผู้เล่นและเจ้าหน้าที่ ทำให้ความรุนแรงขยายวงกว้างครอบคลุมทั้งสนาม รวมถึงลามไปยังนอกสนามด้วย


สถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นจนมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำลายข้าวของและรถตำรวจ ท่ามกลางความพยายามควบคุมสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่บางส่วนที่พยายามใช้โล่กำบังระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในสนาม แต่ไม่เป็นผล

ตำรวจจึงตัดสินใจใช้แก๊สน้ำตาเข้าปราบปรามการจลาจล ซึ่งขัดต่อกฏของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ซึ่งจากการสอบถามของผู้สื่อข่าวในอินโดนีเซีย สำนักงานตำรวจอีสต์ ชวา ไม่ได้ตอบคำถามว่าทราบเรื่องกฎนี้ของฟีฟ่าหรือไม่


แก๊สน้ำตาทำให้ผู้ที่อยู่ในสนามแตกตื่นพากันหนีหาทางออก ผู้คนหลายร้อยวิ่งกรูกันไปยังประตูทางออกในทันที จนเกิดการเหยียบกันเสียชีวิต ซึ่งคาดว่าในช่วงแรกมีผู้เสียชีวิตจากการเบียดเสียดและเหยียบกันทันทีไม่ต่ำกว่า 34 คน จากนั้นจึงมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากอาการบาดเจ็บ

อินโดนีเซียไม่ต่างจากอีกหลายประเทศที่กีฬาฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมอันดับต้นๆ และหลายครั้งการแข่งขันอันดุเดือดก็นำมาซึ่งการกระทบกระทั่งกันของแฟนบอลที่บางส่วนอาจใช้ความรุนแรงจนเหตุชุลมุนปะทุขึ้นได้

ถึงจะเป็นกีฬาอันดับ 1 และมีแฟนบอลติดตามอย่างเหนียวแน่น แต่สำหรับอินโดนีเซียอาจจะแตกต่างจากที่อื่นตรงที่ เหตุการณ์ในลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นนอกสนาม อย่างเช่น เมื่อปี 2018 แฟนบอลทีมเปอร์สิจา จาการ์ตา กับ เปอร์สิบ บันดุง เกิดการปะทะกันและทำร้ายกันจนมีผู้เสียชีวิต

ต่อมาปี 2019 แฟนบอลอินโดนีเซีย ยังเคยขู่ทำร้ายแฟนบอลมาเลเซีย คู่ปรับตลอดกาล และมีการขว้างปาสิ่งของใส่กันระหว่างแฟนบอล 2 ชาติ

เช่นเดียวกับเกมที่อินโดนีเซียเคยแพ้ให้เวียดนามในปีเดียวกัน ก็มีกระแสรุนแรงในโลกออนไลน์ ถึงขั้นขู่ฆ่าผู้เล่นเวียดนามและครอบครัว

หลังเกิดเหตุ โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย มีคำสั่งให้ระงับการแข่งขันฟุตบอลลีกที่เหลือทั้งหมด จนกว่ากระบวนการสอบสวนจะแล้วเสร็จ รวมทั้งสั่งให้มีการทบทวนและใช้มาตรการความปลอดภัยรูปแบบใหม่เพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอย พร้อมทั้งเรียกร้องให้เหตุการณ์นี้เป็นโศกนาฏกรรมในสนามฟุตบอลครั้งสุดท้ายของประเทศ

ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชน (Amnesty International) เรียกร้องให้ทางการอินโดนีเซียสอบสวนการใช้แก๊สน้ำตาที่สนามฟุตบอล และขอให้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำการอย่างไม่เหมาะสม

ตำรวจเปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุ ภายในสนามมีผู้ชมประมาณ 42,000 คน และทางการท้องถิ่น รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 180 คน

แต่ล่าสุดรองผู้ว่าการจังหวัดอีสต์ ชวา และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจอินโดนีเซีย ระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 125 คน โดยปรับลดจากก่อนหน้านี้ที่ระบุว่ามี 174 คน เนื่องจากมีการนับจำนวนผู้เสียชีวิตซ้ำซ้อนกันทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงกว่าความเป็นจริง แต่ทางเจ้าหน้าที่ประเมินเพิ่มเติมอีกว่า อาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคนที่อาการสาหัส

ข้อมูลจากหน่วยงานสังเกตการณ์ฟุตบอลอินโดนีเซีย Save Our Soccer ระบุว่า ตั้งแต่ปี 1995 มีแฟนบอลเสียชีวิตอย่างน้อย 86 คน ส่วนมากเกิดจากการต่อสู้ ทำให้เหตุล่าสุดนี้เป็นโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกิดจลาจลในสนามฟุตบอลอินโดนีเซีย เสียชีวิตกว่า 120 คน

อินโดนีเซีย เผยยอดเสียชีวิตเหตุจลาจลในสนามฟุตบอล 180 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง