น้ำท่วมโรงเรียนแล้ว 782 แห่ง กระทบครู-นักเรียน 1 แสนคน

สังคม
4 ต.ค. 65
15:41
8,473
Logo Thai PBS
น้ำท่วมโรงเรียนแล้ว 782 แห่ง กระทบครู-นักเรียน 1 แสนคน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศธ.ตั้งวอร์รูมรายงานน้ำท่วมทั่วประเทศแบบเรียลไทม์ ล่าสุดพบน้ำท่วมสถานศึกษา 782 แห่ง นักเรียนได้รับผลกระทบ 98,339 คน ครูและบุคลากร 7,575 คน มากที่สุดชัยภูมิ ศรีสะเกษ พระนครศรีอยุธยา

วันนี้ (4 ต.ค.2565) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการช่วยเหลือเหตุน้ำท่วม ว่า ขณะนี้ ศธ.ได้ตั้งศูนย์รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในสถานศึกษา เพื่อรวบรวมข้อมูลของสถานศึกษา นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาพรวมทั่วประเทศ และจำแนกตามพื้นที่ได้ถึงระดับตำบล แบบ Real Time ที่ลิงก์ https://bit.ly/ReportFLOOD_BITC เพื่อติดตามและให้ความช่วยเหลือ

ข้อมูลล่าสุด มีสถานศึกษารายงานเข้ามาแล้ว 5,059 แห่ง มีพื้นที่น้ำท่วม 782 แห่ง นักเรียนได้รับผลกระทบ 98,339 คน ครูและบุคลากรได้รับผลกระทบ 7,575 คน โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากที่สุด ได้แก่ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ และพระนครศรีอยุธยา

นอกจากนี้ ยังสั่งการให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 3-9 ต.ค.2565 เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่บางแห่ง บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในสถานศึกษาและพื้นที่ชุมชนโดยรอบ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สั่งการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดชุดปฏิบัติการ “ศูนย์อาชีวะช่วยประชาชน” ให้บริการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในการช่วยขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง หรือเคลื่อนย้ายประชาชนจากพื้นที่น้ำท่วมสู่พื้นที่ปลอดภัย

ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำท่วมระดับจังหวัด พร้อมทั้งให้เร่งสำรวจความเสียหายของอาคาร สถานที่ ครุภัณฑ์ สื่อการเรียนการสอน ของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทุกสังกัด ทั้ง สพฐ. สอศ. กศน. สช. และให้สถานศึกษารายงานข้อมูลมาที่ศูนย์รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในสถานศึกษา สป. เพื่อจะได้ประมาณการในการเสนอของบฯ กลางซ่อมแซม และให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ อย่างเร่งด่วน

สิ่งที่เป็นห่วงในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม คือ เรื่องของโรคที่มากับน้ำ อุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะ อุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด สัตว์มีพิษที่มากับน้ำ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง จึงต้องเน้นย้ำให้ครู นักเรียน และผู้ปกครองระมัดระวัง

นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะเป็นช่วงปิดภาคเรียน เด็ก ๆ อาจมีกิจกรรมนอกสถานศึกษา หรือเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกวดขันเรื่องการเฝ้าระวังความปลอดภัยนอกสถานศึกษาเพิ่มเติม โดยประชาชนสามารถรายงานเหตุความไม่ปลอดภัยผ่านระบบศูนย์ความปลอดภัยกระทรวงศึกษาธิการ “MOE Safety Center” ผ่าน 4 ช่องทาง คือ แอปพลิเคชัน MOE Safety Center, www.MOESafetyCenter.com, LINE @MOESafetyCenter หรือโทร 0-2126-6565 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง